การบินไทยกางแผนโชว์ 9 เดือนแรกปี 64 ทำกำไร 51,121 ล้านบาท เดินหน้ากู้สินเชื่อใหม่จากเอกชน 2.5 หมื่นล้าน หลังคลังเมินช่วยคาดปีหน้าขาดทุนลดลง พร้อมกลับมากำไรในปี 66 พร้อมเปิดหน้าทวงหนี้จากรัฐ
15 มิ.ย. 2564 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการรอบ 9 เดือนปี 2564 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,491 ล้านบาท มีรายได้รวม 14,990 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้ 73,084 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู อาทิ ปรับโครงสร้างหนี้ ขายทรัพย์สินและเงินลงทุน และปรับโครงสร้างองค์กร ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกปี 2564 จำนวน 51,115 ล้านบาท
สำหรับสถานะการเงินที่เข้มแข็งและมั่นคง มีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการดำเนินกิจการระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่ คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการในระยะต่อไปได้ในไตรมาสที่ 1/2565 อย่างไรก็ตามขณะนี้ต้องรอดูว่ากระทรวงการคลังจะสนับสนุนเงิน 2.5 หมื่นล้านตามแผนหรือไม่ หากไม่สนับสนุนทางกระทรวงการคลังจะดำเนินการอย่างไร อาทิ จะแปลงหนี้เป็นทุน หรือต้องออกหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังต้องพิจารณา โดยการบินไทยต้องการได้คำตอบเร็วที่สุด เป็นไปได้อยากได้ปลายเดือน พ.ย.2564
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า หากกระทรวงการคลังไม่สนับสนุนเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท แต่อาจจะออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้ผู้ถือหุ้นเดิม หรือใช้การแปลงหนี้เป็นทุน ทางการบินไทยฯ ก็ต้องปรับปรุงแผนฟื้นฟูใหม่เพราะแนวทางเหล่านี้ไม่ได้กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูเดิม และต้องประชุมเจ้าหนี้โหวตแผน รวมทั้งเสนอศาลล้มละลายกลางด้วย อย่างไรก็ตามหากรัฐไม่ใส่เงิน 2.5 หมื่นล้านบาท อาจทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐลดลงจาก 48% เหลือ 8%
“หากรัฐจะคงสัดส่วนหุ้นเท่าเดิม จึงต้องแปลงหนี้เป็นทุน 1.3 หมื่นล้านบาท และหรือซื้อหุ้นเพิ่มทุน ส่วนกรณีว่าหากสัดส่วนรัฐถือหุ้นน้อยลง และการบินไทยจะยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติหรือไม่ เรื่องนี้หากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้เป็นสายการบินแห่งชาติ ก็ยังคงเป็นต่อไป ซึ่งขณะนี้มีบางสายการบิน อาทิ บริติชแอร์เวย์ รัฐถือหุ้นน้อยมาก แต่ก็เป็นสายการบินแห่งชาติ”นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่าสิ่งที่จะขอจากภาครัฐคือถ้าไม่เข้ามาช่วยเรื่องเงินกู้ 2.5 หมื่นล้าน นั้นซึ่งก็ไม่ได้คาดหวัง แต่ก็อยากให้รัฐช่วยดูแลคืนหนี้ที่ยังค้างกับการบินไทยที่มีประมาณ 5 พันล้านบาท เป็นหนี้ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน และเงินจากองทุนบำเหน็จบำนาญ
อย่างไรก็ตามขณะนี้การบินไทยสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน ต.ค.2564 มีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ประมาณ 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็น ผู้โดยสาร 10% และสินค้า 90% ถือว่าสูงสุดตั้งแต่เกิดโควิด-19 ส่วนในเดือน พ.ย.2564 หลังจากรัฐบางมีนโยบายเปิดประเทศ มีผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดย 10 วันแรกหลังจากเปิดประเทศ พบว่า มีผู้โดยสารวันละ 750 คน จากก่อนหน้านี้วันละ 300 คน คาดว่าในปี 2565 หากโควิด-19 ไม่ระบาดรุนแรงขึ้นอีก การบินไทยจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2566 จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และในปี 2567 จะมีรายได้ประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านบาท และมีกำไรอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2564 เป็นต้นไป บริษัทฯ ทำการเพิ่มเส้นทางบินและเที่ยวบิน ทั้งในส่วนของบริษัทฯ และสายการบินไทยสมายล์ ไปยัง 44 จุดหมายปลายทางหลักในประเทศและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกว่า 400 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เปิดประตูเชื่อมไทยสู่โลกและเชื่อมไทยเป็นหนึ่ง รองรับผู้โดยสารกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน ผลักดันให้รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารกลับไปสู่ระดับ 1 แสนล้านบาทในปี 2565 และตอกย้ำความเป็นสายการบินแห่งชาติ ในการร่วมเปิดประเทศและทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 คว้ากำไร 730 ล้านบาท เพิ่ม 15% จากปีก่อน แม้ฝ่ามรสุมรอบด้าน ไตรมาส 3 ยังกำไร 189 ล้านบาท
ผลประกอบการ SCGD 9 เดือนแรกปี 67 กำไรสุทธิ 730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่ 637 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 3 เผชิญความท้าทายรอบด้าน
บีเจซี เผยผลประกอบการไตรมาส 2/67 ดันรายได้รวมเติบโตทะลุ 43,085 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานเติบโตกว่า 15%
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาส 2/67 เท่ากับ 43,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257 ล้านบาทจากปีก่อน