เงินเฟ้อ ต.ค. ขยายตัว 5.98% ชะลอตัวลง 2 เดือนติดต่อกัน

8 พ.ย. 2565 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2565 เท่ากับ 108.06 เทียบกับเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้น 0.33% เทียบกับเดือนตุลาคม 2564 เพิ่มขึ้น 5.98% ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ที่สูงขึ้นถึง 6.41% และลดจากเดือนสิงหาคม 2565 ที่สูงขึ้น 7.86% เป็นการชะลอตัวลง 2 เดือน ติดต่อกัน ตามการลดลงของสินค้ากลุ่มพลังงาน และอาหาร จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกันดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชน การกำกับดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่ ดำเนินการมาต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าชะลอตัวลงจากที่เคยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ และอัตราเงินเฟ้อรวม 10 เดือนของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) อยู่ที่ 6.15%

สำหรับเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2565 ที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้า ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 9.58% โดยกลุ่มอาหารสด ราคายังเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ต้นหอม ผักบุ้ง ส้มเขียวหวาน แตงโม น้ำมันพืช ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น แป้งข้าวเจ้า ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยน้ำว้า มะพร้าวผลแห้งขูด และมะขามเปียก เป็นต้น สำหรับหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 3.56% ตามการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของกลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งค่ายาและเวชภัณฑ์ ยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ที่ราคา ชะลอตัวลง ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ หน้ากากอนามัย แป้งผัดหน้า เครื่อง รับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และ เครื่องซักผ้า เป็นต้น

“เงินเฟ้อของไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก ถ้าดูตามสถิติการเก็บเงินเฟ้อของโลกที่มีอยู่ 135 ประเทศ เงินเฟ้อไทยต่ำอยู่ในลำดับ 107 ซึ่งแสดงว่าเงินเฟ้อไทยไม่ได้สูงจนเกินไป” นายพูนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2565 และเพิ่มขึ้น 3.17% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 และเฉลี่ย 10 เดือน เพิ่ม 2.35%

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือน ที่เหลือ (เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565) คาดว่าจะยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่าไม่น่าจะถึง 6% หรือใกล้เคียง 6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้า อุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพ หลายรายการชะลอตัวลง และบางรายการ ราคาทรงตัว แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายส่งผลให้สินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แต่ก็ต้องจับตาราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงเงินบาทที่ยังอ่อนค่าจากทิศทางดังกล่าวประเมินว่า เงินเฟ้อทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 5.5-6.5% มีค่ากลางที่ 6.0% ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจและการคาดการณ์เงินเฟ้อของหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศ

เพิ่มเพื่อน