1 พ.ย. 2565 – นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งปีบัญชี 2565 (1 เม.ย. ถึง 30 ก.ย.65) ว่า ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบท จำนวน 368,745 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ 1,601,350 ล้านบาท เงินรับฝาก 1,770,078 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 2,121,282ล้านบาท หนี้สินรวม 1,974,906 ล้านบาท ส่วนของเจ้าของ 146,376 ล้านบาท มีรายได้รวม 42,654 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 41,266 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,388 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เท่ากับ 0.13% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของเจ้าของ (ROE) เท่ากับ 1.88% อัตราส่วนสภาพคล่องต่อเงินฝาก เท่ากับ12.98%อัตราสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 12.5% และอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) 12.55% สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ผ่านมาตรการและโครงการสำคัญ ๆ ได้แก่ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 ตั้งแต่ 5 ก.ย. – 31 ต.ค. 2565 มีประชาชนร่วมลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส. ประมาณ 4.6 ล้านราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมดประมาณ 22 ล้านราย การร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดภาระและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและโควิด-19 พร้อมกระตุ้นการรับรู้ผ่านการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ซึ่งจะจัดไปยังจังหวัดต่าง ๆ 5 ครั้ง การจ่ายเงินตามโครงการประกันรายได้ในพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด คือข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รวมจำนวนเงิน 142,667ล้านบาท และมีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4.68 ล้านราย
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านถือเป็นช่วงแห่งความยากลำบากของเกษตรกรและผู้ประกอบการทางการเกษตร จากภาระต้นทุนทางการผลิตที่เพิ่มสูง ธ.ก.ส. ได้จัดทำมาตรการในการเข้าไปดูแลแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น การตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงขาขึ้นออกไปให้นานที่สุด การจูงใจให้ลูกค้าชำระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีคืน Plus วงเงิน 3,000 ล้านบาท การดูแลภาระหนี้สินเดิม ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง การไกล่เกลี่ยหนี้กรณีมีหนี้นอกระบบและมาตรการจ่ายดอกตัดต้น การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต การยกระดับมาตรฐานสินค้า เป็นต้น โดยคาดว่าจะช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือนให้เกษตรกรและ NPLs/Loan ลดลงอยู่ที่ 7% ในช่วงสิ้นปีบัญชี
นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายการดำเนินงานในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้าย (1 ต.ค.65 – 31 มี.ค.66) ธ.ก.ส. ยังคงมุ่งเน้นการเข้าไปแก้ไขปัญหาและลดภาระหนี้ครัวเรือนให้กับเกษตรกรลูกค้า ผ่านมาตรการและโครงการที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง พร้อมนำจุดแข็งของเกษตรกรไทย ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ป้อนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ การปลูกพืชพลังงาน การสนับสนุนพลังงานสะอาด การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ด้วยการดึงหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่มีนโยบาย Zero waste มาสนับสนุนชุมชนให้ปลูกต้นไม้และมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. คาดการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจการเกษตร ภายหลังภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19และปรับสู่โรคท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัว ทั้งด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว ถือเป็นโอกาสของเกษตรกรในการจำหน่ายผลผลิตไปสู่ตลาดโลก ซึ่งคาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2565 จะขยายตัวที่ 8%และเศรษฐกิจเกษตรตลอดทั้งปี 2565จะขยายตัวได้ที่ 4.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุน 4 ประการ ได้แก่ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น นโยบายรัฐบาลที่ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรและรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร และปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้ของเกษตรกรขยายตัวถึง15.53%ตามดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัว 12.66%และดัชนีผลผลิตที่ขยายตัว 2.55%
ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ลานีญาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกชุกและอุทกภัยในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อสินค้าเกษตรและการเก็บเกี่ยวผลผลิต ปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง แรงงานภาคการเกษตรที่โยกย้ายไปนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นและราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้จีดีพีภาคเกษตรขยายตัวลดลงจากที่คาดการณ์ แต่มีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตรที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้าหลังโควิด-19คลี่คลาย และความต้องการสินค้าอาหารทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจากภาวะสงคราม จากแนวโน้มดังกล่าว ธ.ก.ส. พร้อมเข้าไปสนับสนุนและต่อยอดการผลิตและการแปรรูปทางการเกษตร ผ่านการเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ไทยออยล์” ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 ภาพรวมผลการดำเนินงานปรับลดลง
สส.สรรเพชญ แนะรัฐต้องเร่งแก้หนี้ครัวเรือน
นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย ว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน