สศอ.ชี้อุตสาหกรรมไทย กลับมาฟื้นตัวใกล้ปี 62 ก่อนโควิดแล้ว ได้แรงส่งออก – ท่องเที่ยวหนุน ระบบเตือนภัยย้ำปีหน้ายังต้องจับตาจุดเสี่ยงศก.โลกชะลอ – วิกฤตพลังงาน – บาทอ่อน
1 พ.ย. 2565 – นางวรวรรณ ชิตอรุณ รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนก.ย. ขยายตัว 3.36% ส่วนภาพรวมไตรมาส 3/2565 (ก.ค.-ก.ย.2565) ขยายตัว 8.06% ส่งผลให้ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.2565) ขยายตัว 2.83% ทำให้ทั้งปีเชื่อว่า เอ็มพีไอจะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.5-2.5% ซึ่งเดือนพ.ย.จะปรับตัวเลขอีกครั้ง และเชื่อว่าปี 2566 จะสูงกว่าปีนี้แน่นอน เนื่องจากตลาดส่งออกหลัก ทั้งสหรัฐ อาเซียน และสหภาพยุโรป (อียู) ยังขยายตัวได้ ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวดี ส่งผลต่อสินค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีเช่นกัน รวมถึงกิจกรรมกระตุ้นทางเศรษฐกิจของภาครัฐ และผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมคาดว่า ปีนี้ขยายตัว 2-3% และปีหน้าคาดว่าจะสูงกว่าปีนี้
“ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมฟื้นค่อนข้างเห็นได้ชัด ซึ่งการขยายตัวของเดือนนี้ ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนที่จะเกิดโควิดแล้ว เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง มาตรการท่องเที่ยว มาตรการส่งเสริมอีวี ส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีกิจกรรมที่คึกคักขึ้น และ 3 เดือนที่เหลือปีนี้ จะดีขึ้นแน่นอน ทำให้เชื่อว่า ปีหน้าถ้าไม่มีอะไรรุนแรง ภาคอุตฯจะขยายตัวดีขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะอุตฯอาหาร , ยานยนต์ , เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนภาคอุตฯที่สำคัญ ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนก.ย. อยู่ที่ 63.18 ไตรมาส 3 เฉลี่ยอยู่ที่ 62.55 และ 9 เดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 63.4 ถือว่า ค่อยๆ ปรับขึ้นต่อเนื่อง”
ส่วนปัจจัยเสี่ยงภาคอุตสาหกรรมปีหน้า ระบบเตือนภัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยของสศอ. พบว่า ยังเป็นทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญของไทย เช่น สหรัฐ อียู จีน ญี่ปุ่น , การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทที่ยังมีทิศทางอ่อนค่า , วิกฤติราคาพลังงาน ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย เป็นประเด็นที่สศอ. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป