ธปท. ฟุ้งเศรษฐกิจไตรมาส 3 ยังแจ่ม อานิสงส์บริโภค-ลงทุนหนุนเต็มพิกัด

31 ต.ค. 2565 – นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมไตรมาส 3/2565 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตที่คลี่คลายลง สำหรับภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวด้านอุปทาน อาทิ การบริหารจัดการสินค้าคงคลังของโรงกลั่นน้ำมัน และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่ตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจเดือน ต.ค. 2565 และระยะต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ระยะต่อไป ต้องติดตาม 1. การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า 2. อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว และ 3. การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนต.ค. ยังมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไปได้ดี แม้ในเดือนนี้จะมีวันหยุดยาวติดต่อกัน 2 ช่วง ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ฟื้นตัวดีขึ้น เห็นความต้องการทั้งในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ทั้งแนวราบ และคอนโดมิเนียม แต่ก็อาจจะมีความกังวลจากปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้น และการสิ้นสุดมาตรการ LTV ที่จะไม่ขยายเวลาผ่อนคลายมาตรการแล้ว” นางสาวชญาวดี ระบุ

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกในช่วงหลังจากนี้ไปอาจจะเริ่มชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจไทยขณะนี้เพิ่งจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว เพราะวัฎจักรเศรษฐกิจของไทยแตกต่างจากหลายประเทศอื่น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างร้อนแรงเกินไป ดังเช่นสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างร้อนแรง จนทำให้ธนาคารกลางต้องออกมาใช้ยาแรงในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงทำให้ ธปท.มีความจำเป็นต้องรักษาสมดุลของเศรษฐกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาแรงดังเช่นประเทศอื่น ๆ ด้วยการทยอยปรับลดมาตรการที่มีความจำเป็นน้อยลง รวมทั้งทยอยลดมาตรการที่มีการผ่อนคลายในวงกว้าง ที่อาจจะส่งผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจ

ซึ่งล่าสุด คือการยุติการเปิดรับการขอความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้(BSF) หลังจากวันที่ 31 ธ.ค.2565 เป็นต้นไป ซึ่งคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ กำลังอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบวิธี และขั้นตอนการยุติดำเนินการของกองทุนฯ ต่อไป

“กองทุน BSF ตั้งมาเพื่อช่วยดูแลตลาดตราสารหนี้ ในช่วงนั้นที่มีความเสี่ยงสูง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด แต่ปัจจุบันสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ไม่เห็นความผิดปกติในตลาดตราสารหนี้ คณะกรรมการกองทุนฯ จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนนี้แล้ว” น.ส.ชญาวดี ระบุ

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจเดือน ก.ย. 2565 นั้น ว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน

เพิ่มเพื่อน