27 ต.ค. 2565 – นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีข่าวที่ธนาคารจะปรับขั้นตอนการฝากเงินผ่านเครื่อง CDM ซึ่งต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิต ทุกครั้ง ว่า เรื่องนี้เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำตาม แต่สิ่งที่เป็นหน้าที่ของ ธปท. คือ เราต้องทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย เช่น สมาคมธนาคารไทย ในการหาวิธีที่จะตอบโจทย์และต้องมีความยั่งยืนในการแก้ปัญหา
ทั้งนี้ ในส่วนที่มีประชาชนเสนอว่าให้ใช้บัตรประชาชนแทนบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิตในการยืนยันตัวตนนั้น ธปท. เห็นว่าบัตรประชาชนเป็นสิ่งที่ทุกคนมี แต่ก็มีความเสี่ยง เช่น คนอาจจะลืมบัตรหลังจากยืนยันตัวตน หรือทำบัตรประชาชนหาย และการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนก็มีต้นทุนสูง ซึ่งสุดท้ายแล้วธนาคารก็จะผลักภาระในส่วนนี้ให้กับประชาชน
“เข้าใจโจทย์ของ ปปง. และเข้าใจปัญหาซึ่งเป็นข้อจำกัดของคนที่ไม่มีบัตรเดบิต เครดิตในการยืนยันตัวตน แต่การไปใช้บัตรประชาชนก็จะมีปัญหาอื่นอีก ซึ่งตรงนี้ต้องขอเวลาในการหารือกับธนาคาร เพื่อบอกโจทย์สำหรับหาทางออก ซึ่งจะมีแนวทาง เช่น การใช้โมบายแอปพลิเคชัน การใช้เลขบัตรประชาชน หรือการใช้เลข OTP แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนในการหาวิธี ขอยังไม่ตอบ เพราะต้องขอคุยกับผู้เกี่ยวข้องในการหาทางออกก่อนที่ตอบโจทย์ทุกฝ่ายที่สุด ตอนนี้เลื่อนไปก่อน ภาระประชาชนยังไม่เกิดขึ้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ดีล่าสุดภายหลังจากสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกประชุมร่วมกัน ก็มีแนวคิดให้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน แต่ยังไม่ได้มีการระบุว่าจะเลื่อนการบังคับใช้ไปเมื่อไร เนื่องจากต้องรอการประชุมร่วมกับ ปปง.ก่อนเนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าควรจะให้สถาบันการเงินกลับมาพิจารณากระบวนการ วิธีการ เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินงาน หรือบังคับใช้เพื่อไม่ให้สะดุด และเกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีความผันผวนในขณะนี้ ว่า ธปท. ไม่อยากเห็นค่าเงินที่มีความผันผวนสูงเกินไป โดยที่ผ่านมาบางจังหวะที่ค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวตึงตัวเป็นพิเศษ ธปท. ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปดูแล แต่ในหลักการไม่ควรทำประกันให้กับทุกคน เพราะหากอัตราแลกเปลี่ยนไม่มีการเคลื่อนไหวเลย ก็จะเห็นจากบทเรียนปี 2540 ที่เข้าฝืนกลไกตลาด แม้จะลดความผันผวนให้กับผู้ประกอบการได้ แต่ก็จะสะสมและสร้างความเปราะบางของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ดังนั้นการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนจึงควรเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาด
ทั้งนี้ การดูแลเรื่องค่าเงินนั้น ก็มีข้อจำกัดที่นอกเหนือการควบคุมได้ ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เกิดจากปัจจัยโลก เช่น ข่าวจากจีน รวมถึงดุลการค้าของไทยที่ดีกว่าคาดการณ์ โดยที่ผ่านมาค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางในภูมิภาพ และภาพรวมการเคลื่อนย้ายเงินทุนยังไม่เห็นสัญญาณผิดปกติ ขณะที่การทำประกันความเสี่ยงค่าเงินสำหรับผู้ประกอบการยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ ธปท. อยากเห็น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่ง ธปท. ก็พยายามผลักดัน ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจว่าบางเรื่องเกี่ยวกับความคุ้นเคย แต่บางเรื่องก็เกี่ยวกับต้นทุนที่สูง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ อัตราเงินเฟ้อในโลกไม่ยอมลง ซึ่งเป็นผลมาจากหลาย ๆ ปัจจัย โดยในส่วนของเศรษฐกิจไทยมองว่า ภาคการส่งออกอาจจะได้รับผลกระทบ โดยปีนี้คาดการณ์ว่าการส่งออกจากขยายตัวได้ 8% ขณะที่ปี 2566 จะขยายตัวเหลือเพียง 1% แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เปลี่ยนไปจากคาดการณ์แม้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัวก็ตาม เพราะหากการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ ก็จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปีนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.3% และปี 2566 ที่ 3.8% และคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทย 9 ล้านคน ปีหน้า 20 ล้านคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พิชัย' ติง 'ผู้ว่าฯธปท' จ้อสื่อนอกไม่มีนโยบายลดดอกเบี้ย ห่วงคนเทรดเงินได้ประโยชน์
'พิชัย'ติง 'ผู้ว่าฯธปท' จ้อสื่อนอก ปมไม่มีนโยบายลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ห่วงคนเทรดเงินได้ประโยชน์ เผย เตรียมถกกรอบนโยบายเงินเฟ้ออีกไม่กี่วันนี้
ผู้ว่าฯธปท.ลั่นไร้ปัจจัย! หั่นดอกเบี้ยลงตามเฟด
“เศรษฐพุฒิ” ลั่นยังไม่มีอะไรที่ทำให้แบงก์ชาติต้องปรับนโยบายดอกเบี้ย