ครม. ไฟเขียวร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ5ปี

25 ต.ค. 2565 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 – 2570 (5ปี)โดยร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อกำหนดเป้าหมาย นโยบาย และกรอบทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทั้ง 13 หมุดหมาย ภายใต้วิสัยทัศน์ คือ “ยกระดับขีดความสามารถรัฐวิสาหกิจไทย มุ่งสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”

โดยได้มีการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งดำเนินการตามหมุดหมายหลักหรือหมุดหมายสนับสนุนตามบทบาทและภารกิจขององค์กร รวมถึงให้มีการจัดทำแผนบูรณาการในด้านต่าง ๆ การนำโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) และแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (Environment Social and Governance : ESG) มาใช้ รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินการของกระทรวงเจ้าสังกัดในการกำกับและติดตามให้รัฐวิสาหกิจดำเนินงานตามบทบาทและภารกิจ

นอกจากนี้ ร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ได้กำหนดให้มีกลไกการขับเคลื่อนแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ เพื่อให้แผนบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย ได้แก่ 1. กลไกการดำเนินงานในการขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานตามบทบาทและภารกิจ โดยรัฐวิสาหกิจจะต้องจัดทำแผนวิสาหกิจและแผนปฏิบัติการประจำปีของรัฐวิสาหกิจที่สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ และการขับเคลื่อนผ่านแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจต้องจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการที่จะส่งผลต่อความสำเร็จตามตัวชี้วัดในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ

2. กลไกการบูรณาการ โดยมีเป้าหมายในการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในด้านต่าง ๆ เช่น ระหว่างกระทรวง รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 3. กลไกในการติดตามการดำเนินงานและการประเมินผล เป็นการติดตามและรายงานผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ เมื่อครบกำหนด 3 ปี การกำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ของกระทรวงเจ้าสังกัด และการติดตามและรายงานผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการประจำปีของรัฐวิสาหกิจ ผ่านระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ดี ภายใต้ร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ มีจำนวนโครงการ/แผนงานลงทุนไม่น้อยกว่า 184 โครงการ มูลค่า 2.9 ล้านล้านบาท ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขยายเส้นทางทางถนนและทางรางเพื่อเชื่อมต่อระหว่างเมืองและในเมือง การพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น พัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการขนส่งทางน้ำ การขยายระบบส่งไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลและเกาะต่าง ๆ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การสร้าง EV Charging Station การขยายบริการน้ำประปาให้ทั่วถึงและเพียงพอ และการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอี เป็นต้น

“ร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ จะมีประโยชน์ในหลายมิติ เช่น รัฐวิสาหกิจจะมีกรอบทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ รัฐวิสาหกิจจะมีการบูรณาการระหว่างกันมากขึ้น มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยทันต่อการเปลี่ยนแปลง ประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับสินค้า/บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ และสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน” นายอาคม กล่าว

เพิ่มเพื่อน