17 ต.ค. 2565 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ใหม่อีกครั้งในช่วงปลายเดือน ต.ค. นี้ โดยเบื้องต้นมองว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโต โดยปีนี้มีโอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 8-10 ล้านคน ซึ่งจะช่วยพยุงให้การขยายตัวของจีดีพีไทยปี 2565 ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ 3-3.5%
“ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะได้ตามเป้าหมายที่ 8-10 ล้านคน แม้ว่านักท่องเที่ยวชาวจีนจะยังไม่กลับเข้ามา จากเดิมที่คาดว่าจะมาในช่วงปลายปีนี้ แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นเข้ามาแทน ซึ่งตรงนี้จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศได้มากขึ้น ส่วนปี 2566 ยังมีปัจจัยเสริมจากที่หลายประเทศเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น ก็จะช่วยทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลดีกับรายได้ภาคการท่องเที่ยว ที่จะมีส่วนในการเข้ามาช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ มองในทิศทางที่สอดคล้องกันว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ และมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัวได้ถึง 20 ล้านคน” นายพรชัย กล่าว
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ในปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามและระมัดระวัง หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 3.2% ขณะที่ปี 2566 ลดลงเหลือ 2.7% พร้อมทั้งเสนอแนะว่านโยบายการเงินต้องเข้ามาทำหน้าที่อย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อดูแลสถานการณ์เงินเฟ้อ ขณะที่นโยบายการคลังต้องมีการดำเนินการแบบเฉพาะเจาะจง ให้ตรงจุด และตรงกลุ่มมากขึ้น โดยในส่วนของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของไทยนั้น ที่ผ่านมามีการดำเนินนโยบายร่วมกันได้ดีอยู่แล้ว ทำให้คาดว่าปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 4% ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี ในระหว่างวันที่ 19-20 ต.ค. นี้ จะมีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting : APEC FMM) โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 250 คน จาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค และองค์การระหว่าประเทศต่าง ๆ โดยในวันที่ 19 ต.ค. จะมีการประชุม APEC FMM อย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ซึ่ง รมว.การคลังจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นโยบายสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สำหรับการประชุม APEC FMM ในวันที่ 20 ต.ค. จะมี 2 การประชุม ได้แก่ 1. การหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน ความท้าทายต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการดำเนินนโยบายของเขตเศรษฐกิจเอเปค และ 2. การหารือในประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในช่วงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไทยจะนำเสนอรายงานผลลัพธ์จากการสัมมนาเรื่องการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความยั่งยืนในตลาดทุน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการใช้เครื่องมือดิจิทัล 3. การหารือประเด็นสืบเนื่องภายใต้กรอบการประชุม รมว.การคลังเอเปค ได้แก่ ความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการสนับสนุนการรวมกลุ่มด้านการเงินและการคลังเอเปค เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การนำแผนปฏิบัติการเซบูสู่การปฏิบัติฉบับใหม่
“เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นมี 3 ประเด็นย่อยที่จะมีการหารือกัน ได้แก่ 1. การใช้ดิจิทัลมาสนนับสนุนการระดมทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2. การใช้ดิจิทัลเข้ามาส่งเสริมนโยบายการคลัง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องรายรับและรายจ่ายของรัฐบาล ทั้งการจัดเก็บภาษีผ่านระบบดิจิทัล การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี ทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการใช้ดิจิทัลสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง และมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เป็นต้น 3. การชำระเงินข้ามพรมแดน ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนเรื่องการใช้คิวอาร์โค้ดข้ามพรมแดนได้สะดวกมากขึ้น” นายพรชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 20 ต.ค. จะมีการประชุม APEC Business Advisory Council’s Executive Dialoguse with APEC Finance Ministers โดยจะมีการหารือในประเด็นการเข้าถึงการเงินดิจิทัลอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น รวมถึงข้อเสนอแนะในด้านการเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กรอบการประชุม รมว.การคลังเอเปค ซึ่งจะมีการพูดคุยประเด็นเกี่ยวกับสภาวะสิ่งแวดล้อมโลก เพราะเชื่อว่าทุกเขตเศรษฐกิจคงมองไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน (sustainable) มากขึ้น โดยที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวอย่างมาก ซึ่งได้ดำเนินการผ่านเครื่องมือทางการเงินที่สนับสนุนความยั่งยืน ไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึง ก.ย. 2565 มีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 2.47 แสนล้านบาทและการประชุม APEC FMM ในครั้งต่อไป สหรัฐฯ จะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในเดือน ต.ค. 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ศิริกัญญา' งง รอมา 2 เดือน นโยบายกระตุ้นศก.ไม่มีอะไรชัดเจน ย้อนถามแจกเงินหมื่นช่วยอะไรได้
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า
ททท. จัดประกวดกระทงสร้างสรรค์รักษ์โลก ในงาน 'สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2567'คลองผดุงกรุงเกษม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานลอยกระทง “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2567” ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2567 โดยไฮไลท์วันสุดท้าย มีการประกวดกระทงสร้างสรรค์รักษ์โลก