รฟท.เร่งทางคู่ 'เด่นชัย-เชียงของ' ลุยเคลียร์เวนคืนคืบ 40%

รฟท.กางแผนรถไฟทางคู่สายใหม่ “ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” โชว์ทำสัญญาเวนคืนคืบหน้า 30% ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในปี66 ภาพรวมคืบหน้า1% เจองานหินทะลวงปากอุโมงค์ที่จ.พะเยา ปักหมุดเปิดให้บริการปี71

17 ต.ค. 2565 – แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร(กม.) วงเงินก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับชาวบ้านที่ถูกเวนคืนประมาณ 30% โดยชาวบ้านได้ทยอยรับเงินหลังจาก รฟท.ได้มีการบริหารจัดการกระบวนการการจ่ายเงินให้เร็วขึ้น โดยตั้งเป้าว่าส่วนที่เหลือ 70%จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี2566

สำหรับภาพรวมโครงการขณะนี้คืบหน้า 1 % ซึ่งมีบางส่วนที่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้แล้ว ส่วนเวนคืนคืบหน้า 40% อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาและอุปสรรคในส่วนของระเบียบของพื้นที่ที่เป็นหน่วยงานราชการด้วยกัน เนื่องจากแต่ละส่วนจะมีระเบียนและวิธีการในการข้ออนุญาตที่แตกต่างกัน และยังมีปัญหากรณีที่ยังมีความไม่เข้าใจของประชาชนบางกลุ่มที่เป็นส่วนน้อย เนื่องจากได้รับข้อมูลที่คาดเคลื่อนมาจากบุคคลภายนอก โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 71 เดือน หรือประมาณ 6 ปี ซึ่งที่ผ่านมา รฟท.และกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดงานอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2571

อย่างไรก็ตามขณะที่งานก่อสร้างจะพบปัญหาเรื่องงานก่อสร้างที่ท้าทาย เช่นภูมิประเทศที่มีความสูงต่ำ ที่มีความยากในงานอุโมงค์ เรื่องนี้ถือว่าไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากเรามีผู้รับจ้างที่มีศักยภาพมีความสามารถ ซึ่งบางส่วนมีการเปิดงานไปแล้วคืองานเปิดหน้าปากอุโมงค์ที่จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องใช้เวลาดำเนินการมากเป็นพิเศษ แต่เมื่อได้มีการวางโครงสร้างด้านนอกได้แล้วการเจาะอุโมงค์เข้าไปค่อนข้างที่จะทำให้งานเดินได้เร็วขึ้น สำหรับที่พะเยาต้องยอมรับว่าเป็นอุโมงค์ที่งานยากที่สุดในบรรดา 4 อุโมงค์ของโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีสภาพดินที่อ่อนแอ(ดินอ่อน)ซึ่งอยู่ในระดับที่ต้องควบคุมด้วยเทคนิคงานก่อสร้างชั้นสูงพอสมควร

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่งสัญญาจ้างออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วยสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว งานโยธา งานระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 104 กม.มูลค่าก่อสร้าง26,560 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.14%, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย งานโยธา งานระบบรางและงานระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 135 กม.มูลค่าก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.37% และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ งานโยธา งานวางระบบราง และงานอาณัติสัญญาณ ระยะทาง84 กม.มูลค่าก่อสร้าง 19,385 ล้านบาท โดยทั้ง 3 สัญญาสิ้นสุดการปฏิบัติงานเดือนมก.ค.2571

ทั้งนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นการสร้างสถิติใหม่ และไฮไลท์สำคัญ เพราะจะเป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้มีเส้นทางผ่านภูเขาสูง และเขตอุทยาน จึงต้องออกแบบก่อสร้างเป็นคันทางระดับดิน และทางรถไฟยกระดับ รวมถึงมีการเจาะภูเขาก่อสร้างอุโมงค์ 4 แห่งซึ่งมีความสูงเหนือระดับพื้นดิน เท่ากับตึกประมาณ 20 ชั้น โดยระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้น และขาล่องรวม 27.03 กม.ที่ จ.แพร่ อยู่อำเภอสอง 2 อุโมงค์ โดยอุโมงค์ที่ 1 มีความยาว 1.175กม. อุโมงค์ที่ 2 ความยาว 6.240 กม. ส่วนอุโมงค์ที่ 3 อยู่ อ.เมือง จ.พะเยา ความยาว 2.700 กม.และอุโมงค์ที่ 4 อยู่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงรายความยาว 3.400 กม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ย้ำที่เขากระโดงเป็นของรฟท. ส่วนที่ดินอัลไพน์ ยันไม่ผิดกฎหมาย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังการรถไฟ

รฟท.ขยายเวลาลดค่าบริการจอดรถสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ถึง 15 ก.พ.68

‘การรถไฟฯ’เดินหน้าช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ปรับลดค่าบริการจอดรถชั้นใต้ดินสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึง 15 ก.พ.68 ให้จอดฟรี 30 นาที ชั่วโมงที่ 1-2 เริ่ม 15 บาท