“ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่ภาคใต้กางแผนปูพรมพัฒนาโครงข่ายคมนาคม “บก–น้ำ–อากาศ” จ่อชง ครม. สัญจร จ.กระบี่ ไฟเขียว “ไทยแลนด์ริเวียร์ร่า” พื้นที่ จ.ระนอง ด้าน ทล. ส่งมอบพื้นที่แขวงทางหลวงระนองให้ รพ.ระนอง ใช้ประโยชน์ให้บริการสาธารณะ
12 พ.ย. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่ จ.ระนองว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จ.ระนอง กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการพัฒนาโครงข่ายถนนจาก 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องทาง ได้แก่โครงการทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) สายชุมพร–ระนอง ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จใน มี.ค. 2565 และสายระนอง–สุขสำราญ จะดำเนินการก่อสร้างตามแผนปีงบประมาณ 2566-2570 เพื่อรองรับแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง
นอกจากนี้ ยังเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาจัดทำรายงานความก้าวหน้า โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งในปี 2564-2565 ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 และเปิดให้บริการได้ปี 2573 เพื่อลดเวลาและระยะทางในการขนส่ง ประหยัดต้นทุนในการขนส่งหลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดของช่องแคบมะละกา สามารถจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น
สำหรับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) นั้น ปัจจุบันมีศักยภาพโครงข่ายทางหลวงชนบท จำนวน 22 สายทาง ระยะทางรวม310.728 กิโลเมตร (กม.) ครอบคลุมทั้ง 4 อำเภอใน จ.ระนอง ซึ่งในปี 2565 มีโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 33 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 268 ล้านบาท โดยในอนาคต ทช.จะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าในประเทศผ่านการพัฒนาถนนสู่ท่าเรือระนอง ระยะทางรวม 14.970 กม. อีกทั้ง การพัฒนาทางหลวงชนบทเพื่อสนับสนุนโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Riviera) ในพื้นที่จ.ระนอง รวมระยะทาง 77.121 กม.
“นโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงคมนาคมพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพิ่มเติมจากถนนเพชรเกษม เพื่อความสะดวกต่อการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยว และส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ณ จ.กระบี่”นายศักดิ์สยาม กล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ส่วนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานระนอง เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานให้เป็น International Airport สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น โดยระยะที่ 1 ปี 2566-2568 ได้แก่ ขยายความยาวทางวิ่ง จากขนาด 45 x 2,000 เมตร เป็นขนาด 45 x 2,400 เมตร สามารถรองรับอากาศยานขนาด 230 ที่นั่ง ก่อสร้างทางขับขนานใหม่ ให้สามารถรองรับเที่ยวบินจากเดิม 6 เที่ยวบิน/ชั่วโมงเป็น 10 เที่ยวบิน/ชั่วโมง รวมถึงขยายลานจอดเครื่องบิน จากเดิม 3 ลำ เป็น 10 ลำ ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่รองรับได้ 2.8 ล้านคน/ปี (1,000 คน/ชั่วโมง) จากเดิม 8 แสนคน/ปี (300 คน/ชั่วโมง) ก่อสร้างลานจอดรถยนต์ รองรับได้ 500 คัน จากเดิม 250 คัน งบประมาณรวม 2,280 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2565 สำหรับศึกษาออกแบบรายละเอียดและผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว
ทั้งนี้ในส่วนแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง ระยะที่ 2 ปี 2568-2571 จะดำเนินการขยายความยาวทางวิ่งจากเดิม2,400 เมตร เป็น 2,990 เมตร ก่อสร้างทางขับขนานใหม่ และก่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง หัวทางวิ่ง ใช้งบประมาณ 1,250 ล้านบาท ปัจจุบันท่าอากาศยานระนองมีความพร้อมในการให้บริการตามนโยบายการเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรี ภายใต้มาตรการ D M H T T A รวมทั้งมีความพร้อมทั้งด้านอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ส่วนการขนส่งทางน้ำ กรมเจ้าท่า (จท.) ได้ศึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมของโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำท่าเรือเอนกประสงค์ระนอง โดยได้ออกแบบขุดลอกร่องน้ำให้ได้ระดับความลึก 12 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด เพื่อให้ร่องน้ำเดินเรือมีความลึก ช่วยให้การเดินเรือเข้าออกท่าเรือเอนกประสงค์ระนองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ 2566
อย่างไรก็ตามขณะที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีแผนการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการของท่าเรือระนอง 2 ระยะ เพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เชื่อมโยงการค้าฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และก้าวเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศ BIMSTEC โดยระยะที่ 1 ได้แก่ การปรับปรุงท่าเทียบเรือที่ 1 (ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์) รองรับเรือสินค้าทั่วไปขนาด 500 GT (ton gross) พร้อมกัน 2 ลำ อีกทั้ง ปรับปรุงท่าเทียบเรือที่ 2 (ท่าเทียบเรือตู้สินค้า) รองรับเรือตู้สินค้า ขนาด 12,000 DWT ก่อสร้างลานวางตู้สินค้า รองรับตู้ 320,258 TEUsต่อปี โดยจะเปิดให้บริการโครงการระยะที่ 1 ในปี 2569 และระยะที่ 2 โดยก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ 3 (ท่าเทียบเรือตู้สินค้า) รองรับเรือ 12,000 DWT ก่อสร้างลานวางตู้สินค้า ส่วนต่อขยาย โดยทั้ง 2 ระยะ รองรับตู้ 499,226 TEUs ต่อปี และสามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 2 ได้ในปี 2583
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ตนยังได้เป็นประธานมอบพื้นที่แขวงทางหลวงระนองให้กับโรงพยาบาลระนอง เพื่อนำไปพัฒนาเพิ่มศักยภาพและรองรับการให้บริการดูแลระบบสุขภาพของประชาชนจังหวัดระนองและกลุ่มประชากรต่างด้าว ด้านการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรคฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยและการคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ ตามมาตรฐานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยและสร้างความพึงพอใจต่อผู้มารับบริการ
สำหรับการก่อสร้างอาคารแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์มะเร็ง อาคารผู้สูงอายุ อาคารที่จอดรถ และอาคารศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองและอาคารสนับสนุน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มศักยภาพการบริการด้านสุขภาพให้กับประชาชนได้ดียิ่งขึ้น สำหรับการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างสำนักงานแขวงทางหลวงแห่งใหม่ ปัจจุบันแขวงทางหลวงระนองได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ราชพัสดุ บนทางหลวงหมายเลข 4 ตอนหงาว–อ่าวเคย ต.หงาว อ.เมือง จ.ระนอง เนื้อที่ 40 ไร่ และธนารักษ์พื้นที่ระนองได้ส่งมอบพื้นที่ให้แขวงทางหลวงระนอง สำหรับก่อสร้างสำนักงานแขวงทางหลวงระนองแห่งใหม่ เพื่อดำเนินการของบประมาณ ปี 2566 แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยดูแลปลอดภัย! ชาวเมียนมาหนีตายกว่า 200 คน อพยพข้ามชายแดนระนอง
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงจังหวัดระนอง ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ม.5 บ.น้ำแดง ต.น้ำจืด อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งอำเภอกระบุรี เป็นอำเภอเขตติดต่อกับ
สกัดจับยางพาราเถื่อน 8.6 ตัน ทะลักชายแดนไทย-เมียนมา
พ.อ.อภิชัย เรืองฤทธิ์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 เปิดเผยว่าหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี รับผิดชอบชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.ระนองและจ.ชุมพร ได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน
ครม.สัญจรระนองหนุน‘ก๊กซิมบี้’เมนูอาหารถิ่นเป็นซอฟต์พาวเวอร์ สร้างงานสร้างเงิน
เมนู "ก๊กซิมบี้" อาหารพื้นถิ่นโบราณของ จ.ระนอง ที่หายไปจากโต๊ะอาหารมานานกว่า 30 ปี ถูกปลุกชีพให้เป็นที่รู้จักและนำกลับมาขึ้นโต๊ะอาหารในโครงการ“ 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น”