11 ต.ค. 2565 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ชี้แจงเรื่องการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา และประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยมีเนื้อหาระบุว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565 กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือน ก.ย. อยู่ที่ 6.41% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 64-ก.ย. 65) อยู่ที่ 5.23% สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประเมินในการประชุมเมื่อ 28 ก.ย. ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 4/2565 ถึงไตรมาส 3/2566) จะอยู่ที่ 3.9%
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน มาจากแรงกดดันด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานเป็นหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์มีจำกัด ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่าเป้าหมายตามแรงกดดันด้านอุปทานที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะทยอยลดลง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจ
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 5.23% สูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินจากปัจจัยด้านอุปทานสำคัญ ได้แก่ ปัจจัยด้านอุทานจากต่างประเทศที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้นมาก มีผลต่อเนื่องให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับฐานที่ต่ำจากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี 2564 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงที่26.76%
และจากปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ ที่เกิดจากโรคระบาดในสุกร ทำให้ราคาเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นมากตามอุปทานที่ลดลง ขณะที่ราคาอาหารสดหมวดอื่น ๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามทุนต้นราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.41% และมีการส่งผ่านต้นทุวัตถุดิบที่สูงขึ้นไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานผ่านราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมา จากกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่เข้มแข็งตามเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัว และตลาดแรงงานที่เปราะบาง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาิสนค้าและบริการอื่น ๆ ยังทำได้จำกัด
สำหรับประมารการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 3.9% สูงกว่ากรอบเป้าหมายตามแรงกดดันด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่แม้จะทยอยลดลงตามราคาในตลาดโลก แต่ยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานจะอยู่ที่ 12.4% และหมวดอาหารสดอยู่ที่ 1.7% ในขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ 2.9% โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 0.46% เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นที่ 3.8% ในปี 2566 จะเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อนหน้านี้ไปยังราคาสินค้าได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงสุดในไตรมาส 3/2565 และมีแนวโน้มจะทยอยลดลงตั้งแต่ไตรมาส 4/2565 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่มีแนวโน้มลดลง จากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จากอุปสงค์ที่อาจลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และอุปทานน้ำมันโลกที่อาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ และราคาอาหารสดที่คาดว่าจะไม่ปรับขึ้นสูงดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากอุปทานเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และต้นทุนปุ๋ยและอาหารสัตว์มีแนวโน้มลดลง จากการคี่คลายของปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลก และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ แนวโน้มต้นทุนที่ลดลงจะช่วยลดแรงกดดันที่ผู้ประกอบการจะส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริหาร ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะไม่เร่งขึ้นต่อเนื่องในระยะต่อไป
สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางที่สะท้อนจากข้อมูลตลาดการเงิน ยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตามการปรับขึ้นของต้นทุนการผลิตสินค้าและราคาสินค้าบางประเภท สะท้อนความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่สาธารณชนมองว่า อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่องจนนำไปสู่การปรับเพิ่มราคาอย่างเป็นระลอกได้
โดย กนง. จะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตรารเงินเฟ้อในระยะต่อไป อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลก ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพื่อให้มั่นใจว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ดังนั้น กนง. จึงมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้กลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพนระยะยาว และสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังสามารถลดความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มสูงขึ้นตากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจมากกว่าประเมินได้
ส่วนกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ กนง. พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมต่อไป