9 ต.ค. 2565 – นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
ใครของจริง ? รฟม. ปะทะ องค์กรต้านโกง
กรณีส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน ประมูลสายสีส้ม
น่าดีใจที่องค์กรต้านโกงออกโรงเรียกร้องให้นายกฯ ตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้าน พร้อมชักชวนให้คนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันกดดันให้ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลที่ฉาวโฉ่ยืดอกแสดงความรับผิดชอบ !
1. องค์กรต้านโกงเกี่ยวข้องกับการประมูลสายสีส้มอย่างไร ?การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กับผู้เข้าร่วมประมูล และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT (Anti-Corruption Organization of Thailand) ภายใต้โครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ข้อตกลงคุณธรรมเป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง รฟม.กับผู้เข้าร่วมประมูลว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการประมูล โดยมีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์ทุกขั้นตอนตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (ร่างทีโออาร์) ร่างประกาศเชิญชวน จนถึงขั้นตอนสิ้นสุดการประมูล
ผู้สังเกตการณ์เป็นบุคคลภายนอกหรือภาคประชาสังคมที่มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ และประสบการณ์ซึ่งจำเป็นต่อการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และจะต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียกับการประมูล
2. ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต้านโกงพบสิ่งผิดปกติในการประมูลสายสีส้มหรือไม่ ?
ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผู้สังเกตการณ์จาก ACT ซึ่งมีจำนวน 5 คน ได้ทักท้วงการประมูลในประเด็นที่น่ากังขาดังต่อไปนี้หรือไม่ ?
(1) ในระหว่างการประมูลครั้งที่ 1 รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลตามคำขอของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD หลังจาก ITD ได้ขอให้เปลี่ยนเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่ รฟม. ได้ใช้เวลาศึกษามาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเกือบ 2 ปี การใช้เกณฑ์ใหม่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?
(2) การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ รฟม. ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม. ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน ทำให้ BTSC ฟ้องต่อศาลปกครองกลางอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า คำสั่งยกเลิกการประมูลเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ รฟม. เพิกถอนคำสั่ง แต่ รฟม. ไม่เพิกถอนคำสั่งนั้นกลับเดินหน้าเปิดประมูลใหม่หรือประมูลครั้งที่ 2 เหตุใด รฟม. จึงไม่เพิกถอนคำสั่ง แล้วกลับไปดำเนินการประมูลครั้งที่ 1 ให้แล้วเสร็จ ?
(3) การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ได้ปรับแก้คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลและเกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเอื้อประโยชน์ และ/หรือ กีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ? เช่น
ก. กำหนดคุณสมบัติของผู้รับเหมาให้สามารถเข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้นกว่าการประมูลครั้งที่ 1 ทำให้ BTSC ที่เคยยื่นประมูลร่วมกับบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ในครั้งที่ 1 ไม่สามารถเข้าประมูลในครั้งที่ 2 ได้ เนื่องจาก STEC ซึ่งเคยมีคุณสมบัติครบในการประมูลครั้งที่ 1 กลับมีคุณสมบัติไม่ครบในการประมูลครั้งที่ 2 เพราะมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้เข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้น เหตุใด รฟม. จึงปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้เข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้น ?
ข. ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง ทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC จากเกาหลีใต้สามารถเข้าร่วมประมูลกับ ITD ได้ หาก ITC ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ITD จะหาผู้เดินรถไฟฟ้ารายอื่นมาร่วมประมูลได้หรือไม่ ? เหตุใด รฟม. จึงลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง ไม่เพิ่มคุณสมบัติขึ้นเหมือนผู้รับเหมา หรือคงคุณสมบัติไว้เหมือนเดิมเป็นอย่างน้อย ?
ค. ITD มีกรรมการคนหนึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก จึงเกิดคำถามว่า ITD มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนหรือไม่ ? โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว “ไม่มีสิทธิ์” ได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แต่เหตุใด รฟม. จึงพิจารณาให้ ITD ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ?
ง. ให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอได้ ทำให้ ITD สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ ITC ได้ หาก ITD ไม่สามารถเป็นผู้นำกลุ่ม ITC จะยอมเป็นผู้นำกลุ่มหรือไม่ ? ทั้งนี้ ผู้นำกลุ่มจะต้องถือหุ้นมากที่สุด และไม่น้อยกว่า 35%
จ. เพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคให้สูงขึ้นกว่าครั้งที่ 1 และสูงกว่าโครงการอื่นที่ก่อสร้างในพื้นที่เดียวกัน ใช้เทคนิคการก่อสร้างเหมือนกัน ทำให้เป็นที่สงสัยว่ามีการกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งไม่ให้ผ่านเกณฑ์เทคนิคหลังจากผ่านเกณฑ์คุณสมบัติมาแล้วหรือไม่ ?
ฉ. จากการเปรียบเทียบการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติหรือไม่ ?
3. รฟม. และองค์กรต้านโกง ต้องทำอย่างไร ?
ACT ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท พร้อมชักชวนให้คนไทยทุกภาคส่วนร่วมกันกดดันให้ผู้เกี่ยวข้องกับการประมูลที่ฉาวโฉ่ยืดอกแสดงความรับผิดชอบ
แต่ รฟม. โต้ ACT ว่า รฟม. ไม่ได้รับรายงานผลการสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการณ์จาก ACT ที่ชี้ให้เห็นว่า รฟม. มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต หาก ACT ได้รับรายงานดังกล่าวก็ควรส่งให้ รฟม.
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้สาธารณชนหายเคลือบแคลงสงสัย รฟม. และ ACT ควรพิจารณาดำเนินการดังนี้
(1) รฟม. ควรเปิดเผยรายงานการประชุมให้เห็นว่ามีการทักท้วงจากผู้สังเกตการณ์หรือไม่ ?
(2) ACT ควรเปิดเผยความเห็นของผู้สังเกตการณ์ต่อการประมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นตามข้อ 2 ดังกล่าวข้างต้น
(3) กรณีคุณสมบัติของ ITD ซึ่งอาจขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนดังกล่าวข้างต้น รฟม. เคยให้ข่าวว่า จะสอบถามไปยังคณะกรรมการฯ ถึงเวลานี้ รฟม. ควรเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการฯ ว่ามีความเห็นอย่างไร ?
หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉ10โกงทำประเทศจน เอกชนสมคบกับจนท.รัฐ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉ 10 กรณีทุจริตแห่งปี 2567 ที่ทำคนไทย “เจ็บ” และ “จน" หลายเรื่องราวยังไม่จบ
ACT เปิด '10 ทุจริต อบจ.' เสียหาย 377 ล้าน เฉพาะอุบลฯ โกงถึง 42 คดี
ACT เปิดข้อมูล '10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง' อบจ. ตั้งคำถาม 'ป.ป.ช.' ทำไมคดีน้อยแค่หลักสิบ สวนความเชื่อประชาชน งบท้องถิ่นโกงกันอื้อ
'ดร.สามารถ' แพร่บทความ บทเรียนสูญ 1.3 แสนล้าน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ต้องมีผู้รับผิดชอบ
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ รถไฟฟ้าสายสีส้ม "บทเรียนที่ต้องเรียน" มีเนื้อหาดังนี้
'ศาลปค.สูงสุด' ชี้ขาดแล้ว รฟม.เดินหน้าเซ็นสัญญา BEM ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องในคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
ดร.มานะ ยกเคส ‘หมออ๋อง’ เชียร์เบียร์-หมูกระทะ สะท้อนความรับผิดชอบ ‘สส.’
สมาชิกรัฐสภาคือผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน สามารถออกกฎหมายไปบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ มีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล
วันต่อต้านคอร์รัปชัน (อยากให้มีวันนี้ทุกๆวันในประเทศไทย)
เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย (Anti -Corruption Organization of Thailand หรือ “ACT”) และเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน