"เสื่อม ปวด อ้วน เครียด" 4 สัญญาณเตือนก่อน เจ็บป่วยหนัก

“อโรคยา ปรมา ลาภา การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ยังเป็นสิ่งที่เป็นความจริงอยู่เสมอ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน การมีสุขภาพดี เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็ว ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ

นพ.วิทยา วันเพ็ญ โรงงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า “ความเสื่อม ความปวด ความอ้วน ความเครียด เป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง ที่หากได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยหนักได้ ดังนั้น การสังเกตอาการและดูแลจัดการเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหนักตามมาในอนาคต จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่ไม่ควรมองข้าม โดยกล่าวได้ดังนี้ คือ

ความเสื่อม

ประเทศไทยเรา กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเสื่อมตามวัย หรือบางท่านอาจจะมีความเสื่อมเร็วกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ ปัญหาความเสื่อมมีมากมายหลากหลาย อาทิ สมองเสื่อม, ปัญหาการมองเห็น เช่น ต้อกระจก, ปัญหาการได้ยิน, ปัญหาการทำงานของตับ ไต, หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง มีความตีบตัน การทำงานของปอดลดลงจากถุงลมโป่งพอง, ต่อมลูกหมากโต, มดลูกหย่อน, ปัญหากระดูกเสื่อม เข่าเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม, การเสื่อมสมรรถนะทางเพศ และความเสื่อมอื่น ๆ อีกมากมาย

การดูแลร่างกายเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้ร่างกายอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดความเสี่ยงของอาการ “เสื่อม” อันนำมาสู่จุดเริ่มต้นของการเกิดโรคต่างๆ

ความปวด

ปัจจุบันมีอาการปวดอื่นๆ ในร่างกายที่เราสามารถพบได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็น การปวดศีรษะ ไมเกรน การปวดท้องจากกระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน นิ่วในถุงน้ำดี การปวดตาจากการจ้องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นาน ๆ การปวดท้องประจำเดือน  การปวดหลังจากการนั่งท่าเดิมนาน ๆ หรือในผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาเข่าเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม ก็จะมีความปวดที่เรื้อรัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ ยุคดิจิตอลที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน มักจะพบปัญหาความปวดกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ จากภาวะออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) มากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) เนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งหากได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการออกกำลังกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมขณะทำงาน จะบรรเทาและลดอาการปวดได้พอสมควร

ความอ้วน

จากข้อมูลในปี 2564 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. (เครือข่ายคนไทยไร้พุง) ให้ข้อมูลว่า คนไทยเป็นโรคอ้วนลงพุงสูงถึง 20.8 ล้านราย และด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในปัจจุบันที่มีการทำงานอยู่กับที่ และการรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ทำให้ขาดความสมดุลระหว่างการรับเข้าและการระบายออก เกิดไขมันสะสม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาตามมาเช่น ปวดเข่า ปวดหลัง เหนื่อยง่าย เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง และร้ายแรงที่สุดคือการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภัยคุกคามชีวิตทั้งสิ้น

การออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 30-40 นาทีต่อวัน พักผ่อนให้เพียงพอ การปรับพฤติกรรมการควบคุมสิ่งกระตุ้น เพื่อส่งเสริมส่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ การจัดการความเครียด ผ่อนคลาย และทำจิตใจให้แจ่มใส เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้การลดหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความเครียด

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคปัจจุบัน เราพบว่าในสังคมมีความเครียดสูงขึ้น ตั้งแต่เด็กและวัยรุ่น วัยทำงาน รวมไปถึงวัยสูงอายุ จากสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้เรามีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ต้องอยู่ในสภาพที่แยกกันอยู่ ลดการมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ลดกิจกรรมสังสรรค์การเดินทางท่องเที่ยว และยังมีปัญหาสภาพเศรษฐกิจ สังคม การใช้ social media ที่ทำให้เกิดความเครียดได้มากขึ้น

โดยความเครียดนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน (acute stress) และแบบความเครียดเรื้อรัง (chronic stress) สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งจากปัจจัยภายนอกร่างกาย และจากปัจจัยภายในร่างกาย ซึ่งหากปล่อยให้เกิดความเครียดอยู่ในระดับที่สูงเกินไป (toxic stress) จะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้ทั้งสิ้น

ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้ในการบริหารจัดการความเครียดให้ตรงจุด โดย การปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รับรู้ที่จะยอมรับความปรับเปลี่ยนที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างเข้าใจและผ่อนคลาย ใช้ชีวิตอย่างยืดหยุ่น จะช่วยให้เรารับมือ กับความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ปัญหาความเสื่อม ความปวด ความอ้วน ความเครียด ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัว หากใส่ใจสังเกตอาการตัวเองและคนรอบข้างใกล้ชิด และรีบจัดการปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์การมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจได้ และการรักษาโรคที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือรีบจัดการเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติ เป็นแนวโน้มการดูแลสุขภาพสำหรับคนรุ่นใหม่ และแม้แต่กลุ่มที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็ยังมีการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี และการไม่ปล่อยให้อาการลุกลามไปจนถึงจุดที่จะแก้ไขได้ยาก” นพ.วิทยา ทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ

เอกชนแนะ สร้าง Ecosystem ด้านสุขภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลาง Medical Hub ของอาเซียน

ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ผ่านการพัฒนา Ecosystem ด้านสุขภาพที่ครบวงจร ซึ่งไม่เพียงส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ