กฟผ.เผยแนวโน้มค่าไฟแพงยันปีหน้า พร้อมเดินหน้ารับลูกรัฐ กระตุ้นส่งเสริมใช้พลังงานทดแทน ลดพึ่งก๊าซแอลเอ็นจี ด้าน ธพ.เผยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 8 เดือนของปี 65 มีอัตราเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิด
4 ต.ค. 2565 – นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าปี 66 จะทรงตัวระดับสูงต่อไป เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงหลัก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ผันแปรตามราคาน้ำมัน ขณะที่ไทยต้องพึ่งพาก๊าซแอลเอ็นจีนำเข้าถึง 20% ที่มีราคาสูงมาก หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังยืดเยื้อต่อเนื่อง จะยิ่งทำให้ราคาก๊าซแอลเอ็นจีมีแนวโน้มแพงมาก เช่น หากราคาก๊าซแอลเอ็นจีอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบเป็นหน่วยค่าไฟฟ้าจองไทย จะสูงถึงกว่า 13.30 บาทต่อหน่วย ดังนั้นหากผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันประหยัด หรือใช้ไฟฟ้าให้น้อยลงมากที่สุด จะทำให้ใช้ก๊าซแอลเอ็นจีน้อยลงต้นทุนค่าไฟฟ้าก็จะต่ำลง
“การบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้า กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างดำเนินการปรับแผนเชื้อเพลิงให้เหมาะสม ทั้งใช้ดีเซลทดแทนแอลเอ็นจีที่แพงกว่า ยืดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ และกฟผ.ได้สั่งจ่ายจากโรงไฟฟ้าต้นทุนที่ต่ำที่สุดก่อน เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ พร้อมปรับระบบไฟฟ้ารองรับพลังงานทดแทนที่จะเข้าระบบมากขึ้นให้มั่นคง ได้จัดทำโครงข่ายระบบไฟฟ้ามีความทันสมัย ยืดหยุ่น นำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม”นายประเสริฐศักดิ์ กล่าว
ด้านนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยในช่วง 8 เดือน(ม.ค. – ส.ค.) 2565 อยู่ที่ 150.92 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.2% โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 17.6% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 80% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 18.6% LPG เพิ่มขึ้น 10.8% และการใช้ NGV เพิ่มขึ้น 8.4% การใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 4.5% ขณะที่น้ำมันก๊าดลดลง 8.1% ทั้งนี้ ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้คลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้น จากการดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขจนสามารถผ่อนปรนมาตรการและข้อจำกัดต่างๆ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฟผ. ศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ชูแนวทางพัฒนาไทยลดคาร์บอน
“ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ที่ตอบโจทย์ความมั่นคง ไฟฟ้าสีเขียว และมีราคาแข่งขันได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศ”
‘อดุลย์’ ชี้กลุ่มการเมืองกับทุนพลังงาน ร่วมกันปล้นเงินจากกระเป๋าประชาชน
‘อดุลย์’ชำแหละ ราคาไฟฟ้าแพงเพราะการสมคบคิดของกลุ่มทุนพลังงานกับการเมืองปล้นเงินจากกระเป๋าประชาชน ด้วยการผลิตล้นเกินไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หนุน”พีระพันธุ์”รื้อโครงสร้าง ยกเลิกสัมปทานที่ไม่ชอบธรรม เร่งขุดทรัพยากรทางทะเลที่อ้างพื้นที่ทับซ้อน ซื้อพลังงานจากรัสเซีย เตือนรัฐบาล ระวังประชาชนจะหมดความอดทน