รัฐบาลแจงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบฯ 66 มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ คำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน

โฆษกรัฐบาลเผย แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบฯ 66 รัฐมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน ภายใต้กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง

30ก.ย.2565 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 65 มีมติอนุมัติ เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า แผนดังกล่าว มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน โดยแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย

1. แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท ได้แก่ การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 819,765.19 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงการของรัฐบาล ส่วนที่เหลือเป็นการให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องเงินคงคลัง การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ วงเงิน 233,020.28 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อการลงทุนในสาขาคมนาคม (รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3) สาขาพลังงาน (ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน) สาขาสาธารณูปโภค (ปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาต่าง ๆ) สาขาที่อยู่อาศัย (พัฒนาที่อยู่อาศัย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง)

นายอนุชา กล่าวว่า 2. แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 1,589,973.34 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 145,989.59 ล้านบาท เพื่อบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้การบริหารต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม และ3. แผนการชำระหนี้ วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท เป็นแผนการชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ

นายอนุชา กล่าวว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 65 มีมติเห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 และนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อให้รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐสามารถดำเนินการตามแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2566 ได้ทันตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณากรอบการจัดทำแผนฯ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นวงกว้าง โดยแผนฯ ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกู้เงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่กล่าวมา

โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพคล่องของตลาดการเงินภายในประเทศเพื่อรองรับการกู้เงินตามแผนฯ ในปีงบประมาณ 2566 และขอย้ำว่าการจัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปี 2566 ในครั้งนี้ อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ พ.ศ. 2561 โดยภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการคลังคาดว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 60.43 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังที่ร้อยละ 70

“รัฐบาลบริหารด้านการเงินการคลังอย่างมีระบบ ระเบียบ โดยพิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้ง ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ไปจนถึงสถานการณ์โลก ประกอบกับจุดอ่อน จุดแข็ง ศักยภาพของประเทศเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ควรสนับสนุนเพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาให้เท่าทันบริบทของโลก เป็นไปตามแผนการพัฒนาชาติ ซึ่งต้องเป็นไปตามความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม” นายอนุชา กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วรวัจน์' หนุนของบแสนล้านทำดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ไม่เหมือนรัฐสวัสดิการจ่ายเท่าไหร่ก็ไม่พอ

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้ ซึ่งแนวคิดนี้ไม่เหมือนกับแนวคิดรัฐสวัสดิการที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วต้องหาเงินมาแจก

นายกฯเก็บงบฯไว้ใช้โครงการดิจิทัล ไม่นำไปกระตุ้นศก.เท่ากับซ้ำเติมปชช.ให้ลำบากมากขึ้น

'จตุพร' ฟาดนายกฯ อย่าอ้างต่างชาติร้องขอเช่าที่่ดิน 99 ปี เพราะคนได้ประโยชน์คือบริษัทอสังหาฯ ที่สร้างคอนโดขายไม่ออก มูลค่ากว่า 4 ล้านบ้านบาท จวกเก็บงบฯไว้เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัล โดยไม่นำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ เท่ากับซ้ำเติมประชาชนให้ลำบากมากขึ้น

โฆษก มท. เผยมหาดไทยพร้อมชง ครม. เคาะกฎกระทรวงกำหนดเวลาเล่นแข่งวัวลาน 18.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น หนุนท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายนายกรัฐมนตรี 'อนุทิน' มอบปกครองวางมาตรการกวดขัน ป้องกันผลกระทบสังคม

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดูแลปรับปรุงข้อกฎหมายเพื่อให้การแข่งขันวัวลาน จ.เพชรบุรี

'กุนซือนายกฯ' เขย่า 'แบงก์ชาติ' หัดร่วมมือรัฐบาลแก้เศรษฐกิจ

'พิชัย' ลั่นเตือนแล้วเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกย่ำแย่ ชี้นโยบายการเงินไม่สนับสนุน ขณะที่งบประมาณยังใช้ไม่ได้ จี้ 'แบงก์ชาติ' หนุนแก้เศรษฐกิจเหมือนธนาคารกลางประเทศอื่น

'สมชัย' ยุครม.รีบเห็นชอบแหล่งเงิน-การดำเนินการ 'ดิจิทัลวอลเล็ต ปชช.-ศาลรออยู่

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ปรึกษา กมธ. ติดตามงบประมาณฯ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า