ดีป้า ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี เผยผลสำรวจข้อมูลสถานภาพอุตสหากรรมดิจิทัลไทย ประจำปี 2564 ใน 3 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล มีมูลค่ารวม 8.98 แสนล้านบาท ขยายตัว 25% จากปี 2563 ชี้อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด พร้อมคาดการณ์ว่า การเติบโตของแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกพื้นที่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย โดยมูลค่าจะขึ้นไปถึง6.9แสนล้านบาทในปี2567
27 ก.ย. 2565 – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี เผยผลสำรวจข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ประจำปี 2564 โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) และอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Services) ทั้งในส่วนของข้อมูลรายได้และการจ้างงาน โดยนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data) มาใช้คำนวณร่วมกัน ซึ่งพบว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ย 25% จากปี 2563 มีมูลค่ารวมที่ 8.98 แสนล้านบาท[1] และหากนับรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ที่สำรวจโดย ดีป้า และอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม ปี 2564 จากการสำรวจโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จะมีมูลค่ารวมที่ 1.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 14.33% สะท้อนให้เห็นถึงอัตราการเติบโตอย่างมากในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล
กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคงดีป้า เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลมีอัตราการเติบโตกว่า 37% คิดเป็นอัตราเติบโตสูงสุดด้วยมูลค่า 3.46 แสนล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อออนไลน์ (Online Media) ซึ่งรวมทั้งยูทูบ (YouTube) และเฟซบุ๊ก (Facebook) พบว่ามีการขยายตัว โดยเฉพาะในส่วนของรายได้จากการโฆษณา
“สังคมไทยกำลังเข้าสู่บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้คนใช้งานแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ (e-Retail) รับชมสื่อออนไลน์ และใช้บริการขนส่ง (e-Logistics) มากขึ้น ซึ่งตลาดที่เติบโตชัดเจนคือ e-Logistics เช่น บริการสั่งอาหาร ถือเป็นตลาดที่มีการขยายตัวมากกว่า 57% เช่นเดียวกับ e-Retail ที่เติบโต 44% โดยมูลค่าบริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับจำนวนบุคลากร ซึ่งไม่ใช่เพียงคนไอที แต่เกิดการจ้างงานที่ทำให้ผู้คนเข้ามาในอุตสาหกรรมดิจิทัลมากขึ้น” ดร.กษิติธร กล่าว
การสำรวจพบว่า จำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลปี 2564 เติบโตเฉลี่ย 26.55% เพิ่มเป็น 84,683 ราย จาก 66,917 รายในปี 2563
ล็อกดาวน์พาตลาดฮาร์ดแวร์โต
การสำรวจและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ประจำปี 2564 ยังพบว่า มูลค่าอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะเติบโตขึ้น 20% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.86 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์มาจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้นกว่า 53% มีจำนวนเครื่องเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 ล้านเครื่อง โดยมูลค่าการซื้อขายเครื่องสูง ส่งผลให้ตลาดคอมพิวเตอร์เติบโตเกินระดับ 1 แสนล้านบาท สถิตินี้ทำให้เห็นการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าสู่สังคมดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงการล็อกดาวน์ และการทำงานจากระยะไกล (Work from home) ที่มีผลให้ตัวเลขรายได้ของบริษัทในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะเติบโตขึ้นรวม 12%
อีกหนึ่งส่วนที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์คือ ตลาดหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robot & Automation) โดยการสำรวจพบว่ามีการนำเข้ามากกว่า 5.53 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโตกว่า 27% ซึ่งถือเป็นส่วนที่เติบโตอย่างมากในฝั่งฮาร์ดแวร์
นอกจากนี้ การสำรวจพบว่า จำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะปรับตัวลดลงราว 0.45% ในปี 2564 โดยบันทึกได้ 311,051 ราย ขณะที่ปี 2563 มีจำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมดังกล่าว 312,460 ราย
ซอฟต์แวร์คลาวด์ – บิ๊กดาต้า โตต่อเนื่อง
ภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการด้านซอฟต์แวร์ยังคงเห็นการเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2564 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 1.44 แสนล้านบาทในปีก่อนหน้า โดยบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่ใช้ในประเทศไทยมีมูลค่าราว 1.21 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 14% สิ่งที่พบจากการสำรวจคือ ส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทขนาดเล็กที่มีการจ้างงานเฉลี่ยต่ำกว่า 10 คน และกว่า 90% เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่า มูลค่าของซอฟต์แวร์แบบคลาวด์ (Cloud) ที่สามารถใช้งานผ่านระบบเซิร์ฟเวอร์ออนไลน์ได้ยืดหยุ่นเติบโตมากกว่าแบบออนพริมิส (On-Premise) ที่ยังอิงกับระบบเซิร์ฟเวอร์ดั้งเดิม
จำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ปี 2564 มีจำนวน 129,544 ราย เพิ่มขึ้น 4.64% จากจำนวนบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมปี 2563 ที่มีจำนวน 123,805 ราย
การสำรวจยังพบว่า อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าปี 2564 มีมูลค่ารวม 1.59 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 14.25% โดยการสำรวจแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. ส่วนฮาร์ดแวร์ มีมูลค่า 1.92 ล้านล้านบาท เติบโต 19.07% 2. ส่วนซอฟต์แวร์ มีมูลค่า 4.76 พันล้านบาท เติบโต 13.91% 3. ส่วนบริการดิจิทัล มีมูลค่า 9.31 พันล้านบาท เติบโต 17.53% ขณะที่บุคลากรมีจำนวน 19,392 คน เพิ่มขึ้น 18%
บริการด้านดิจิทัลแรงแซงทุกกลุ่ม
รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวถึงผลคาดการณ์ 3 ปีข้างหน้า(ปี 2565-2567) โดยวิธีประมาณการณ์จากมูลค่าอุตสาหกรรมปีที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมที่จะเติบโตมากที่สุดในช่วง 3 ปีจากนี้คือ บริการดิจิทัลและบิ๊กดาต้า ตามมาด้วยอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์
“หากพูดถึง 3 อุตสาหกรรมดิจิทัล ฮาร์ดแวร์ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในการสำรวจในอดีต แต่เชื่อว่า ใน
3 ปีข้างหน้า ด้วยอัตราการเติบโตของแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลจะทำให้อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกพื้นที่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย โดยมูลค่าอุตสาหกรรมจะขึ้นไปถึง 6.9 แสนล้านบาทในปี 2567” รศ.ดร.ธนชาติ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ALPHASEC ปลื้ม 'ดีป้า' รับรองเป็นหน่วยตรวจตราสัญลักษณ์ dSURE
ALPHASEC ได้รับการรับรองในเครือข่ายตราสัญลักษณ์ dSURE ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
'ดีป้า' เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล ยกระดับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน
ดีป้า ส่งเสริมเกษตรกรไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต เดินหน้าเปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล) ขับเคลื่อนการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันภาคการเกษตรสำหรับบันทึก จัดเก็บข้อมูล ติดตามย้อนกลับการเพาะปลูก สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงสู่ตลาดโลก พร้อมพัฒนาทักษะและศักยภาพเกษตรกรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะอย่างยั่งยืน
'ดีป้า' แถลงผลสำเร็จ ยกระดับทักษะโค้ดดิ้ง สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย คือโครงการในแผนงาน
'ดีป้า' เตรียมจัดแข่งทักษะโค้ดดิ้ง รอบชิงชนะเลิศ เฟ้น 10 สุดยอดผลงานนวัตกรรมดิจิทัล
ดีป้า เตรียมจัดการแข่งขัน Coding War รอบชิงชนะเลิศ สมรภูมิไอเดียด้านโค้ดดิ้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หา 10 สุดยอดผลงานนวัตกรรมดิจิทัลจากเด็กไทยทั่วประเทศ
'ดีป้า' ติวเข้มทักษะโค้ดดิ้ง 'ครู-นักเรียน' 100 ทีม ต่อยอดสู่เวทีนานาชาติ
ดีป้า จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเข้มข้น ครู - นักเรียน จำนวน 100 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากทั่วประเทศ เข้าคอร์สติวเข้มทักษะโค้ดดิ้ง จากผู้เชี่ยวชาญ
ดีป้า เปิดแผนการดำเนินงานปี 2568 ชูแนวคิด Perform Better, Think Faster and Live Better ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
ดีป้า เผยแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2568 ในงาน ‘depa Digital Intelligence’ ภายใต้แนวคิด Perform Better, Think Faster and Live Better