“ศักดิ์สยาม”มอบนโยบาย รฟท. เคาะแนวทางหยุดให้บริการรถไฟเข้าหัวลำโพง ลุยเนรมิตพื้นที่เชิงพาณิชย์ เน้นอัตลักษณ์เดิมคู่ความทันสมัย สั่งพิจารณาวิธีลงทุนให้เหมาะสม
10 พ.ย.2564 – นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามนโยบาย เรื่อง แนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางบางซื่อ–หัวลำโพง ว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย ส่งผลให้สถานีหัวลำโพง ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ลดบทบาทลง
ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและเข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีแดง (ในอนาคต) ดังนั้น จึงควรนำพื้นที่บริเวณดังกล่าว มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งสถานีหัวลำโพงนั้น บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ได้วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง รวมถึงจัดสรรพื้นที่บางส่วนสำหรับเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย พร้อมทั้งมีพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยยังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิม สอดคล้องกับความสมัยใหม่ และรูปแบบการดำเนินชีวิต
อย่างไรก็ตามในส่วนของพื้นที่ริมทางรถไฟ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ–สถานีหัวลำโพงนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนแบบโครงการMissing Link โดยเฉพาะบริเวณสถานีราชวิถี (อยู่บริเวณโรงพยาบาลรามาธิบดี) เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงการบริการของโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ด้วย ได้แก่1.โครงการสถานีธนบุรี แบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ ศูนย์วิจัยเพื่อนวัตกรรมทางการแพทย์ขั้นสูง, พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่อยู่อาศัย
2.โครงการพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางพระรามเก้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะของสัญญาและทำสรุปพื้นที่ที่สามารถจัดสรรได้เพื่อดำเนินการต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อสั่งการในส่วนของการพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพง เห็นควรให้การรถไฟฯ เร่งพิจารณาแนวทางการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง โดยเร็ว เพื่อให้มีความชัดเจนในเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง
สำหรับการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อาจจะพิจารณาการออกแบบที่แตกต่างไปจากเดิมคือ การประกวดแบบการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง โดยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Land Developer) เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อให้เกิดมีแนวความคิดที่หลากหลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางการลงทุนของโครงการการรถไฟฯ และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ควรพิจารณาว่า จะมีแนวทางการลงทุนเช่นใด หากพิจารณาแล้วว่า การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการรถไฟฯ มากที่สุด เห็นควรให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องคู่ขนานกันไป เพื่อไม่ให้การดำเนินการโครงการล่าช้า