'วรภพ' โต้ 'กกพ.' เปิดข้อมูลยันค่าไฟ 4 บาทต่อหน่วยเป็นไปได้ หากรัฐบาลเลือกช่วยประชาชนมากกว่าอุ้มสมกลุ่มทุนพลังงาน
22 ก.ย.2565 - นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงแสดงความกังวลต่อค่าไฟที่แพงขึ้น พร้อมตอบโต้คำแถลงของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ออกมาระบุว่าคนไทยจะไม่ได้เห็นค่าไฟฟ้า 4 บาทต่อหน่วยอีกแล้ว ว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาการขึ้นค่าเอฟที 92 สตางค์ ทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มโดยเฉลี่ยถึง 5 บาทต่อหน่วย กลายเป็นค่าไฟที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์และแม้ที่ผ่านมาจะมีการอนุมัติงบกลาง 9 พันล้านบาท ออกมาช่วยเหลือประชาชน แต่ก็เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งในอนาคตประชาชนจะต้องมาเป็นผู้แบกรับภาระดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน แม้จะมีการมองปัจจัยหลักของปัญหาไปอยู่ที่วิกฤติพลังงานจากสงครามยูเครน-รัสเซีย และขอยืนยันอีกครั้งว่าต้นตอจริงๆ เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานอยู่เหนือประโยชน์ของประชาชน
นายวรภพ กล่าวว่า ประการแรกมาจากการที่ทุกหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย เป็นการจ่ายเข้าโดยตรงให้กลุ่มทุนโรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องถึง 24 สตางค์ต่อหน่วย เหตุจากการที่รัฐไปทำสัญญาประกันกำไรค่าความพร้อมจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินความต้องการใช้ไปถึง 54% และกลายมาเป็นต้นทุนที่รัฐนำมาคิดกับประชาชนอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ประชาชนยังต้องจ่ายค่าผ่านท่อก๊าซ ที่ไม่มีก๊าซผ่านเพราะโรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่อง ให้กับกลุ่มทุน ปตท. อีกต่อหนึ่ง โดยรัฐบาลไม่มีความพยายามใดเลยในการเจรจาขอปรับลดแต่อย่างใด
“แม้กำลังการผลิตไฟฟ้าจะมีมากเกินความต้องการไปแล้วถึง 17,000 MW แต่ที่ผ่านมากลับมีการรีบอนุมัติทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA กับ 5 เขื่อนในประเทศลาวเพิ่มอีก 3,900 MW โดยที่ไม่รอแผน PDP ฉบับใหม่ ที่จะพิจารณาถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่งการดำเนินการอย่างเร่งรีบนี้จะย้อนกลับมาเป็นภาระให้กับประชาชนในอนาคตต่อเนื่องอย่างแน่นอน”
นายวรภพ กล่าวต่อว่า ประการต่อมาจริงอยู่ที่ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าแพง ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนก๊าซนำเข้า 10 บาทต่อหน่วย แต่หากพิจารณาถึงปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า จะเห็นว่าอยู่ที่ 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่กำลังการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยนั้นมีมากถึง 2,756 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าให้กับทั้งประเทศ เพียงแต่นโยบายของรัฐบาลได้อนุญาตให้กลุ่มทุนพลังงานนำก๊าซจากอ่าวไทยที่ไปขายเป็นเชื้อเพลิงให้กับอุตสาหกรรมได้ก่อนถึง 811 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำไปขายเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีในเครือ ปตท. อีก 804 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมกัน 1,615 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ 59% ของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยถูกนำไปมอบให้เข้ากลุ่มทุนพลังงานโดยตรง ก่อนนำมาผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนใช้
“ประการสุดท้าย มาจากนโยบายที่ให้ครัวเรือนจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่ากิจการขนาดใหญ่ โดยเก็บค่าไฟฟ้าจากครัวเรือนเป็นอัตราก้าวหน้า หรือยิ่งใช้มากยิ่งจ่ายแพง ขณะที่เก็บจากกิจการขนาดใหญ่เป็นอัตราคงที่ ซึ่งครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าแพงสุดต้องจ่ายที่ 4.10 บาทต่อหน่วย ขณะที่กิจการขนาดใหญ่กลับจ่ายค่าไฟฟ้าแพงสุดเพียง 3.74 บาทต่อหน่วยเท่านั้น”
นายวรภพกล่าวอีกว่า ค่าไฟหน่วยละ 4 บาทไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้วอย่างที่ กกพ. ออกมาแถลง นี่เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สงครามยูเครน-รัสเซียเป็นแค่ปัจจัยรอง แต่ปัจจัยหลักคือนโยบายของรัฐที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานต่างหาก ยืนยันอีกครั้งว่าค่าไฟที่ถูกลงที่หน่วยละ 4 บาทเป็นไปได้ หากเพียงรัฐมีการเปลี่ยนนโยบาย นำเอาผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นหลักก่อนผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปปช.เปิดทรัพย์สิน 'ก่อแก้ว' สุดอู้ฟู่รวย 263 ล้านบาท
เปิดเซฟ 'ชัยธวัช ตุลาธน' อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล 19.3 ล้านบาท 'อภิชาติ' อดีตเลขาธิการพรรค 13.2 ล้านบาท 'ก่อแก้ว' อู้ฟู่ 263 ล้าน
ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง
ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง
'ปชน.' ชงข้อเสนอรัฐบาล ประชุมโลกร้อน 'COP29' เร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero
'ปชน.' ชงข้อเสนอ รัฐบาล ในการประชุมโลกร้อน 'COP29' แนะเร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้เป็นรูปธรรม-ดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีหน้า
'ศรีสุวรรณ' ฟ้อง กกพ.-กพช.-กบง. ระงับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่ม ทำให้ไฟฟ้าล้นประเทศ
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากประชาชนทั่วประเทศ ได้เดินทางมายื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ต่อศาลปกครอง