สรรพสามิตลุยศึกษารีดภาษีปล่อยคาร์บอน เล็งเป้า 5 อุตสาหกรรมหลัก

“สรรพสามิต” เดินเครื่องศึกษาแนวทางการรีดภาษีคาร์บอน หนุนผู้ประกอบการใช้พลังงานสะอาด วางเป้าหมาย 5 อุตสาหกรรม “ปูน-เหล็ก-อลูมิเนียม-ปุ๋ย-ไฟฟ้า” ชูแนวทางใครปล่อยคาร์บอนเยอะ เสียภาษีเยอะ ปักธงได้ข้อสรุปภายในปีงบ 2566

12 ก.ย. 2565 – นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพสามิตเตรียมศึกษาแนวทางการจัดเก็บ “ภาษีคาร์บอน” (CARBON TAX) ซึ่งเป็น 1 ในเทรนด์ที่ท้าทายต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของกรมสรรพสามิต โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกทำให้ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้มาตรการทางภาษีเป็นตัวขับเคลื่อน

ทั้งนี้ ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 โดยเบื้องต้น กรมมีแนวทางในการสนับสนุนการนำเอทานอลบริสุทธิ์มาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) เชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน (Bio Jet) ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในขั้นตอนการผลิตสินค้า และช่วยส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“การดูแลสิ่งแวดล้อมจะเป็นกติกาใหม่ของโลก ที่ผ่านมาไทยยังไม่เทคแอคชั่นสักเท่าไหร่ แต่ภาษีสรรพสามิตจะเข้ามามีส่วนช่วยได้ โดยกลุ่มประเทศยุโรปได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว หากประเทศไหน มีการส่งออกสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง ก็จะถูกเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งไทยก็ต้องยึดแนวทางปฏิบัติสากล ถ้าปล่อยคาร์บอนสูงจะเก็บภาษีสูง อะไรที่เป็นพลังงานทางเลือก ก็จะเก็บภาษีน้อยมาก หรือไม่เก็บภาษีเลย” นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า สำหรับหลักการในการจัดเก็บภาษีคาร์บอน จะต้องมีการศึกษาให้ชัดเจน โดยเฉพาะประเทศที่มีการนำมาใช้แล้ว ในกลุ่มประเทศยุโรปที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในอุตสาหกรรม 5 ประเภท คือ 1.ปูน 2.เหล็ก 3.อลูมิเนียม 4.ปุ๋ย และ 5.ไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานโลก และการจัดเก็บก็ทำได้ 2 รูปแบบ คือ 1.คำนวณจากสินค้าหน้าโรงงาน ใครผลิตออกมาเยอะ เก็บเยอะ ใครไม่ปล่อยคาร์บอนก็ไม่เก็บ และ 2. คำนวณจากกระบวนการผลิต ต้นน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งจะต้องร่วมมือกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ว่าจะมีแนวปฏิบัติอย่างไร ซึ่งการศึกษาจะได้เห็นผลในงบประมาณ 2566

อย่างไรก็ดี ในปี 2566 กรมสรรพสามิตตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ที่ 5.67 แสนล้านบาท แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไปบ้าง แต่ก็เป็นผลระยะสั้น ดังนั้น สิ่งที่จะมาช่วยเรื่องรายได้ คือฐานภาษีใหม่ ๆ โดยเฉพาะภาษีสิ่งแวดล้อม ในหลักการ คนที่ไม่น่ารัก ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่เห็นแก่สังคม ต้องเก็บภาษีมากขึ้น ต้องรักษาสมดุล ที่อยากจะบอก กรมสรรพสามิตยุคใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่ภาษีสรรพสามิตต้องช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ...เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน มีเนื้อหาดังนี้

“บีไอจี” จับมือ “กรมสรรพสามิต” ลงนาม MOU เพื่อสร้างความร่วมมือในการวัดปริมาณการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

บีไอจี จับมือ กรมสรรพสามิต ลงนามความร่วมมือในการจัดการตรวจสอบและวิเคราะห์ แนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้งานและการบำรุงรักษาพลังงาน รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้ Carbon Management Platform ที่พัฒนาโดยบีไอจี