“สรท.” คงเป้าส่งออกไทยปี 2565 ที่ 6-8% ชี้ปัจจัยเสี่ยงกดดันรอบด้าน เงินเฟ้อทั่วโลก-ราคาพลังงานสูง-วัตถุดิบขาดแคลน อ้อนรัฐตรึงราคาดีเซล-ค่าไฟ พร้อมขอเปิดช่องเอกชนขยับราคาสินค้าสอดคล้องกลไกตลาดและต้นทุน
7 ก.ย. 2565 – นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2565 ที่ 6-8% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคในระดับกลางและระดับล่างทั่วโลกมีสัญญาณชะลอตัว2. ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประกอบการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า (FT) ภายในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือน ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก
3. สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูงและเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง อีกทั้งค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สถานการณ์ตู้เปล่าเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น4. ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน และยังมีปัจจัยในประเทศเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงงานในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มด้วย ส่วนปัจจัยบวก คือ เงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันไทยยังได้อานิสงส์ในการส่งออกอาหารจากวิกฤติอาหารโลกด้วย
“สรท. ยังไม่ปรับเป้าส่งออกเนื่องจากมีปัจจัยลบเยอะมาก โดยเป้าหมายที่ 6% มีอยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว มั่นใจทำได้แน่นอน แต่ถ้าการส่งออกอาหารอีก 5 เดือนโตขึ้น 5% จะแตะที่ 8% หรือมูลค่าส่งออกที่ 292,867 ล้านดอลลาร์ได้ เพราะว่าสินค้าอาหารคือสินค้าเรือธงที่โต Double Digit ส่วนความเสี่ยงเรื่องค่าระวางเรือ และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่ก็ต้องจับตาเรื่องการขาดแคลนชิป ซึ่งจะเป็นตัวพลิกผันการส่งออกของไทย” นายชัยชาญ กล่าว
นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า หากต้องการให้การส่งออกปีนี้โตได้ 10% จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยขอให้ภาครัฐช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป รวมทั้งขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือตรึงอัตราค่าไฟฟ้า (ค่า FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือนออกไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้ผู้ผลิต ภาคครัวเรือน ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านการผลิต และค่าใช้จ่ายประจำวันที่สูงจนเกินไป และขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาอนุญาต ให้ภาคเอกชนสามารถปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลไกตลาด และต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางสภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เรื่องต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นได้ แต่ขอให้ค่อยเป็นค่อยไป ส่วนราคาน้ำมันดีเซลนั้นขอให้ตรึงราคาจนถึงสิ้นปี ขณะที่ในประเทศก็จำเป็นต้องค่อย ๆ ปรับราคาสินค้าโดยสะท้อนจากต้นทุนที่แท้จริง เพื่อช่วยผู้ประกอบการ” นายชัยชาญ กล่าว
สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนม.ค.-ก.ค. ของปี 2565 (7 เดือน)พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 172,814.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,774,277 ล้านบาท ขยายตัว 22.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 182,730.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,192,216 ล้านบาท ขยายตัว 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนม.ค.-ก.ค. ของปี 2565 ขาดดุลเท่ากับ 9,916.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 417,939 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สรท. ยืนเป้าหมายส่งออกปี 66 หดตัว 0.5% ถึงโต 1%
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร ระบุว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤษภาคม 2566
'พาณิชย์' ชี้เป้าส่งออก 'ชาไทยไม่ใส่นม' เจาะตลาดสุขภาพในอินเดีย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าส่งออก “ชาไทยไม่ใส่นม”.เจาะตลาดอินเดีย หลังทูตพาณิชย์นำ “ชาใบหม่อน” แจกทดลองตลาดได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เผยสามารถเจาะตลาดกลุ่มรักสุขภาพ ควบคุมน้ำหนัก และมังสวิรัติแนะช่องทางเพิ่มการรู้จักด้วยการขายเป็นของฝาก ขายผ่านตู้กด สอดแทรกเป็นเมนูในร้านอาหารมั่นใจเวิร์กแน่
'จุรินทร์' ปักหมุดเยือนยูเออี 6-7 ขับเคลื่อนการค้า -การส่งออก
“จุรินทร์” ปักหมุดวันที่ 6-7 ก.พ. นี้ เตรียมนำคณะผู้แทนการค้าภาครัฐ-เอกชน เยือนตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาง 5 กิจกรรม ขับเคลื่อนเพิ่มยอดการค้า การส่งออก ตั้งเป้าหมายตีตลาดยูเออี หนุนส่งออกไทยเพิ่มไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท