5 ก.ย.2565 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ก.ค.65) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 2.02 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.62 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.9% โดยการนำส่งรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วเป็นสำคัญ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ การบริโภคและการค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของกรมสรรพสามิต ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากมีการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการชั่วคราว จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณ อยู่ที่ 2.69 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จำนวน 3.71 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.4% โดยเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 2.51 ล้านล้านบาท คิดเป็น 81.3% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.2% และการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 1.72 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4%
โดยรายจ่ายปีปัจจุบันประกอบด้วย 1. รายจ่ายประจำ จำนวน 2.19 ล้านล้านบาท คิดเป็น 87.9% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำหลังโอนเปลี่ยนแปลง จำนวน 2.49 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.65 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.2% โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่ายกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานของศาล เบิกจ่ายสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และ 2. รายจ่ายลงทุน จำนวน 3.24 แสนล้านบาท คิดเป็น 53.7% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลง จำนวน 6.03 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3.93 พันล้านบาท คิดเป็น 1.2% เนื่องจากรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบิกจ่ายสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 6.58 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 5.01 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ2565 นั้น เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้เกินเป้าหมายอย่างน้อย 4-6 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันจัดเก็บได้เกินเป้าหมายราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลให้ ณ สิ้นปีงบประมาณ คาดว่าเงินคงคลังจะขยับขึ้นไปแตะระดับ 5.5 แสนล้านบาท ตรงนี้ถือเป็นภาพคล่องของรัฐบาลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ โดยในช่วงต้นปีงบประมาณจะมีความต้องการใช้เงินเยอะ เพราะรายได้จากภาษีจะยังไม่เข้ามาเต็มที่ โดยจะเข้ามาช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ดังนั้นจึงต้องมีเงินคงคลังสำรองไว้
“ตอนนี้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะมีการลดภาษีเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล ดังนั้นก็ต้องมีการปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บให้กรมสรรพสามิต ตามรายได้ที่กรมฯ เสียไปจากการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในช่วงที่ผ่านมาทั้งหมด ซึ่งหากบวกในส่วนนี้เข้าไปกรมสรรพสามิตก็จัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายอยู่แล้ว ส่วนจะมีการขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่ออีกหรือไม่ คงต้องคุยร่วมกับกระทรวงพลังงานด้วย รวมทั้งพิจารณาปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบ ทั้ง ราคาน้ำมัน ณ วันนั้นเป็นเท่าไหร่ สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่าตอนนั้นเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังมีเวลาอีกพอสมควร” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟุ้ง!กระตุ้นศก. ดันเชื่อมั่นขยับ ลดค่าไฟ1.34บ.
คลังเผยเศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค.67 ยังฉลุย รับอานิสงส์ส่งออกโตพรวด 14.6%
ฟุ้งปี68ศก.โต3% จ่อชงมาตรการ! กระตุ้นช่วงปีใหม่
“คลัง” ยืนเป้าหมายจีดีพีปี 2567 ยังโต 2.7% โอดน้ำท่วมทำเศรษฐกิจเป๋