1 ส.ค. 2565 – นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 8,363 คน ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับการปรับตัวในภาวะน้ำมันแพง ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงในหลากหลายรูปแบบ โดยในด้านการเดินทาง กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง ตามด้วยเปลี่ยนชนิดพาหนะหรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง และเปลี่ยนไปใช้บริการขนส่งสาธารณะ ผู้ที่มีรายได้ในช่วง 10,001–100,000 บาทต่อเดือน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง ตามด้วยเปลี่ยนชนิดพาหนะหรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง และเปลี่ยนชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เติมรถยนต์ และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง ตามด้วยเปลี่ยนชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เติมรถยนต์ และเปลี่ยนเวลาเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรแออัด
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามอาชีพ พบว่า เกษตรกร นักศึกษา ผู้ไม่ได้ทำงาน และอาชีพอิสระ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลงมากที่สุด ตามด้วยเปลี่ยนชนิดพาหนะหรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง และเปลี่ยนไปใช้บริการขนส่งสาธารณะ ส่วนพนักงานของรัฐ ผู้ประกอบการ และพนักงานเอกชน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลงมากที่สุด ตามด้วยเปลี่ยนชนิดพาหนะหรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง และเปลี่ยนชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เติมรถยนต์
“เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน กลุ่มนักศึกษาและกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้บริการขนส่งสาธารณะมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะการใช้บริการขนส่งสาธารณะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากที่สุด และเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ทำได้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและดูแลค่าบริการขนส่งสาธารณะให้เหมาะสม เพื่อให้กลุ่มคนดังกล่าวได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” นายรณรงค์ กล่าว
สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน พบว่า มีการลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า มากที่สุด รองลงมา คือ ลดการเดินทางท่องเที่ยว และลดการบริโภคอาหารนอกบ้าน ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงรายได้มาก แต่หากพิจารณาตามอาชีพ เกษตรกร จะลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด ตามด้วยลดการบริโภคอาหารนอกบ้าน และลดการเดินทางท่องเที่ยว พนักงานของรัฐ ผู้ประกอบการ พนักงานเอกชน ผู้ไม่ได้ทำงาน และอาชีพอิสระ ลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด ตามด้วย ลดความถี่ในการบริโภคสินค้าประจำวัน และลดการบริโภคอาหารนอกบ้าน ส่วนนักศึกษา ลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด ตามด้วยลดความถี่ในการบริโภคสินค้าประจำวัน และลดกิจกรรมบันเทิง
ส่วนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาว หากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงยืดเยื้อ ทุกกลุ่มรายได้และกลุ่มอาชีพ เห็นตรงกันว่าจะต้องหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ เปลี่ยนไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้ใกล้ที่ทำงาน หรือมีค่าเช่าถูกลง ยกเว้นกลุ่มที่มีรายได้สูง ที่เห็นด้วยกับการหารายได้เสริม ซื้อรถยนต์ไฟฟฟ้า แต่จะไม่เปลี่ยนที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ในส่วนของการซื้อรถไฟฟ้า กลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า 40,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มผู้ประกอบการ เห็นว่าต้องเปลี่ยนไปใช้ เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายระยะยาวได้
“จากผลสำรวจดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าประชาชนส่วนใหญ่ มีการปรับตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่เป็นช่วงที่น้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูง ทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมัน ลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งในการรับมือกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการกำกับดูแลราคาสินค้าให้ราคาเหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุน เพื่อดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชน หน่วยงานที่ดูแลการบริการขนส่งสาธารณะ ได้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและดูแลค่าบริการให้เหมาะสม รวมทั้งมีการเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุ่มพื้นที่ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น” นายรณรงค์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อึ้ง! ปชช. 57% ไม่เชื่อมั่นฝ่ายค้าน 'ไหม' โดดเด่นสุด 'เท้ง' รั้งอันดับ 9 'ป้อม' บ๊วย
โพลชี้ 'ศิริกัญญา' โดดเด่นสุด สส.ฝ่ายค้าน แซง 'หัวหน้าเท้ง' อยู่อันดับ 9 ตามคาด 'ลุงป้อม' รั้งท้าย อึ้ง! ประชาชนไม่เชื่อมั่นการทำงานฝ่ายค้านกว่า 57%
เปิดผลสำรวจ เดือนกันยา 'คนไทย' มีความสุขทางการเงิน เพิ่มขึ้น 52.8%
ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นอร์ทกรุงเทพโพล” มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความ