ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5% จากอัตราเดิม เริ่ม 1 ต.ค.65 ส่งผลต้นทุนเพิ่มเฉลี่ยราว 0.5% และกระทบกำไรจากการดำเนินงานให้ลดลงเฉลี่ยราว 4.6% กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ก่อสร้าง อาจมีกำไรลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม หรือลดลง 5%-15
30 ส.ค. 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ระบุว่า ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยจะถูกปรับขึ้นในรอบกว่า 2 ปีจากครั้งหลังสุดเมื่อ 1 มกราคม 2563 หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของมติคณะกรรมการค่าจ้าง ที่พิจารณาให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันปรับขึ้นมาที่ 328-354 บาท หรือเฉลี่ยทั้งประเทศ (77 จังหวัด) อยู่ที่ 337 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5% จากอัตราเดิม
การมีผลบังคับใช้ของอัตราใหม่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ทำให้ในปี 2565 ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศจะอยู่ที่ 325 บาท/วัน (9 เดือนแรก อยู่ที่ 321 บาท) เพิ่มขึ้นราว 1.3% จากในปี 2564 ขณะที่ ในปี 2566 ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 337 บาท/วันเต็มปี หรือเพิ่มขึ้น 3.7% จากปี 2565 ในกรณีที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกระหว่างทาง
การเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัดในอัตราที่ไม่เท่ากัน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่มีแหล่งที่ตั้งของกิจการต่างกัน จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน โดยเบื้องต้นกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าหากเทียบกับพื้นที่อื่น
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานในสัดส่วนสูง ไม่ว่าจะเป็น การทำเกษตร (กสิกรรม ประมง เป็นต้น) ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ก่อสร้าง จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากกำไรที่อาจลดลงราว 5%-15% หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ขณะที่บางกิจการในอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหาร เป็นกลุ่มที่เผชิญความท้าทายสูง เนื่องจากจังหวะเวลาของการพลิกกลับมาทำกำไรอาจถูกเลื่อนออกไปจากเดิมจากประเด็นด้านต้นทุนที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนที่ปรับขึ้นหลายด้าน แต่อาจสามารถขยับราคาสินค้าขึ้นได้จำกัด ซึ่งตัวเลขข้างต้น เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นโดยเน้นไปที่ต้นทุนแรงงาน ภายใต้สมมติฐานว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือคงที่ และกำไรจะลดลงหากธุรกิจไม่สามารถขยับราคาขายได้
ไม่เพียงต้นทุนแรงงาน ที่จริงแล้วภาคอุตสาหกรรมได้เผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนมาก่อนหน้านี้และยังมีแนวโน้มที่ต้นทุนจะยังคาอยู่ในระดับสูง ทั้งวัตถุดิบและพลังงาน และถัดจากนี้อาจยังมีต้นทุนทางการเงิน ท่ามกลางสถานการณ์ฝั่งรายได้ที่ในภาพรวมแม้จะเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังมีความเปราะบางและเป็นแนวโน้มการฟื้นตัวที่ยังไม่แข็งแรง นั่นหมายความว่า การรักษาความสามารถในการทำกำไรจะยังคงเป็นโจทย์ท้าทายเฉพาะหน้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่อไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นเรื่องแรงงานจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ เนื่องจากโครงสร้างประชากรไทยจะเริ่มมีจำนวนที่ลดลง และแรงงานมีอายุมากขึ้นหรือเป็นสังคมสูงวัยสุดยอด (Hyper-aged society) ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพแรงงานจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้หากพอจะทำได้ เพื่อที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนรวดเร็วและซับซ้อนขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานในอุตสาหกรรมไทยยังมีความไม่เท่ากัน และในระดับประเทศถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าเวียดนาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม. ไฟเขียวขึ้นค่าแรง 400 บาท ประเดิม 4 จังหวัด 1 อำเภอ มีผล 1 ม.ค.68
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22
ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดเฟดลดดอกเบี้ยลง 0.25%
ศูนย์วิจัยกสิกรฯประเมินผลประชุมเฟดรอบนี้จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯออกมาใกล้เคียงตลาดคาดพร้อมคาดจะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในปีหน้าไม่ถึง 4 ครั้งจากที่เคยส่งสัญญาณไว้เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา
'พิพัฒน์' ให้ลุ้นประชุมบอร์ดไตรภาคีเคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
'พิพัฒน์' ให้ลุ้นประชุมบอร์ดไตรภาคีเคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพรุ่งนี้ ย้ำทันปีใหม่แน่นอน ส่วนของขวัญปีใหม่ ก.แรงงานเข้า ครม.สัปดาห์หน้า