รัฐบาลชวนผู้ประกอบการเข้าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม รับสิทธิประโยชน์ภาษีและจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผู้สนับสนุนได้ลดหย่อนภาษีด้วย
7 พ.ย. 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงการขับเคลื่อนการประกอบกิจการเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจ และภาคประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ซึ่งในช่วงเวลาสองปีของการเริ่มใช้กฎหมายฉบับนี้ คณะกรรมการฯ ได้ผลักดันให้มีการออกสิทธิประโยชน์หลายอย่าง เพื่อเป็นแต้มต่อให้วิสาหกิจเพื่อสังคมได้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และนำผลกำไรคืนสู่สังคมต่อไป ขณะนี้มีจำนวนวิสาหกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise:SE ) ที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) จำนวน 162 กิจการ
การดำเนินงาน ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการในการสนับสนุนการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม อาทิ กรมสรรพาการมีประกาศให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการจดทะเบียนกับ สวส. คือ 1.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่นิติบุคคลที่จดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไร 2. ผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถหักลดหย่อนเงินลงทุนในหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมและได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ 3. ผู้บริจาคให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ ขณะที สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศให้กิจการ SE ที่ผ่านการจดทะเบียนรับรอง สามารถระดมทุนเสนอขายหุ้นต่อประชาชนได้ โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตจาก ก.ล.ต.ตามปกติ เป็นต้น และล่าสุดที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ คือ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างผลิตผลชิ้นงาน หรือบริการที่ผลิตหรือจัดทำขึ้นจะวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ ทำให้วิสาหกิจฯ มีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น
นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ได้กล่าวมาแล้ว คณะกรรมการฯยังผลักดันให้มีการเสริมแกร่งแก่วิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น การสร้างเครือข่ายกับ 18หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อเป็นพี่เลี้ยงด้าน การตลาด การลงทุน การระดมทุน การส่งเสริมศักยภาพกลุ่มกิจการเพื่อสังคมสำหรับคนพิการ และที่สำคัญ กระทรวงพาณิชย์ได้ริเริ่มการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Online Business Matching) นำกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม 13 ราย พบผู้ซื้อและผู้นำเข้าจากต่างประเทศ กว่า 34 ราย จาก 13 ประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม เยอรมัน สเปน ซาอุดิอาระเบียและประเทศกลุ่มยุโรป นำไปสู่มูลค่าการค้า ประมาณ15 ล้านบาท โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่เจรจาทางธุรกิจเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องสำอางค์ สินค้าเพื่อสุขภาพ และในระยะต่อไปก็จะดำเนินการให้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการส่งออกร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ รวมถึงจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง
นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับปีหน้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เล็งเห็นโอกาสที่จะเพื่มจำนวนผู้จดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสนใจ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งก็มีศักยภาพที่จะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนหลายอย่าง มีโอกาสต่อยอดธุรกิจให้มีรากฐานที่แข็งแรง มั่นคง และยั่งยืนตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคมหรือสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศให้ยั่งยืนต่อไป ผู้สนใจ สามารถติดต่อ สวส. ได้ที่ https://www.osep.or.th/ โทร 02 246 2344
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรน้ำดีที่รอวันเติบโต
วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) หรือ องค์กรที่ประกอบธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม นับเป็นองค์กรประเภทหนึ่งที่มีบทบาทในนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ไปปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ ในช่วงเวลา ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา วิสาหกิจเพื่อสังคมในหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมพิสูจน์ให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจขององค์กรสามารถช่วยเหลือสังคมได้จริง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในประเทศบังกลาเทศ