“อาคม” มองเศรษฐกิจไทยปี 2566 โตแกร่ง 4-5% อานิสงส์ปลดล็อกโควิด-19 หนุนท่องเที่ยว คาดปีนี้ต่างชาติแห่เข้าไทยทะลุ 10 ล้านคน ห่วงขึ้นดอกเบี้ยกระทบประชาชน ทำรายได้โตไม่ทันรายจ่าย บี้บูมเศรษฐกิจโตช่วยลดหนี้ครัวเรือน ด้านเอกชนแจงเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คาดเงินเฟ้อปีหน้าแผ่วเหลือ 2%
18 ส.ค. 2565- นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางการลงทุนไทย วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น” ในงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” ว่า ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3-3.5% ซึ่งอยู่ในช่วงที่หลายฝ่ายคาดการณ์ หลังจากไตรมาส 2/2565 จีดีพีขยายตัวได้ 2.5% ถึงจะเป็นระดับที่ไม่สูงนัก แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปลดล็อกมาตาการควบคุมโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมา โดยคาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 8-10 ล้านคน ขณะที่ภาคการส่งออกก็ทำได้ดี แม้จะไม่ร้อนแรงเหมือนปีก่อน
โดยขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ปี 2566 ซึ่งเป็นงบประมาณขาดดุลที่ 6.95 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2565 ที่ขาดดุล 7 แสนล้านบาท ภายใต้ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ 4-5% โดยการจัดทำงบประมาณขาดดุลที่ลดลงนั้น ถือเป็นสัญญาณที่รัฐบาลพยายามจะบอกว่าในอนาคตต้องมีการลดการขาดดุลลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันก็ได้มีการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ขณะเดียวกันต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ควบคู่ไปด้วย
“การจัดทำงบประมาณ ต้องอยู่บนการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจว่าจะขยายตัวเท่าไหร่ โดยที่ผ่านมามีเหตุการณ์เข้ามาแทรกซ้อนการระบาดของโควิด-19 ทั้งเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดความขัดแย้งของจีนและไต้หวัน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาอาหาร รวมถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จนทำให้ต้องเริ่มทำนโยบายการเงินที่เข้มข้นขึ้น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบกับประเทศอย่างเรา ๆ โดยเฉพาะการส่งออก ในฐานะที่เป็นประเทศคู่ค้าด้วย” นายอาคม กล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลพยายามพูดตลอด คือการเร่งกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออกของไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำได้ดี โดยการค้าขายของไทยยังขยายตัวได้แม้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากการกระจายการส่งออกไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยในช่วงปี 2563-2564 การส่งออกในส่วนนี้ยังขยายตัวได้ 20% ดังนั้นไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการค้าขายกับประเทศกลุ่มเล็กแถบลุ่มแม่น้ำโขง และกลุ่มใหญ่ คือประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์และช่วยลดความเสี่ยงจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกได้
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 0.25% ต่อปีนั้น หลายฝ่ายอาจจะมองว่าน้อยเกินไปและควรเป็น 0.50% ต่อปี สะท้อนว่าไทยได้ผ่านพ้นช่วงการใช้นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลาย และเดินหน้าเข้าสู่การใช้นโยบายในภาวะปกติ ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินนั้นชัดเจนว่าไม่ได้ดูแค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หรือการไหลออกของเงินทุนเท่านั้น แต่ยังต้องชั่งน้ำหนักเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็ฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนราคาพลังงานและอาหารที่ปรับสูงขึ้นนั้น ก็ต้องแก้ไขกันต่อไป โดยต้องยอมรับว่ามีทั้งส่วนที่รัฐบาลควบคุมได้และควบคุมไม่ได้
ทั้งนี้ จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะมีผลกระทบกับ 3 กลุ่มหลัก คือ 1. ประชาชนที่จะมีภาระเพิ่มขึ้นหากสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทันที เพราะรายได้โตไม่ทันรายจ่าย แต่ที่ผ่านมาสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยืนยันที่จะช่วยดูแลลูกค้าในช่วงที่ขาขึ้น โดยการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนการจะทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยลดลงได้นั้น ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เร็วขึ้น 2. ภาคธุรกิจ ที่ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ และ 3. ภาครัฐ ที่ต้องยอมรับว่าดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาคลังได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ บริหาร และยืดหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Perfect Storm เศรษฐกิจโลก..เศรษฐกิจไทย” ว่า ขณะนี้เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าไทยปี 2565 อาจจะขยายตัวได้ในระดับ 3% หรือ มากกว่า 3% เล็กน้อย ส่วนปี 2566 คาดว่าขยายตัวได้ 4% อัตราเงินเฟ้อ 2% ไม่รุนแรงเท่าปี 2565
“เศรษฐกิจไทยกำลังขี่หลังเสือ มีทั้งโอกาสและความไม่แน่นอน ปีนี้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจขึ้น จากปัจจัยหนุนหลักคือ การท่องเที่ยวที่ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 10 ล้านคน และปี 2566 อยู่ที่ 20 ล้านคน โดยมีปัจจัยเงินเฟ้อกดดันทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ส่วนเงินเฟ้อปีหน้ายังมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูง” นายอมรเทพ กล่าว
นอกจากนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 2 ครั้ง แต่จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่น่าจะขึ้นเร็วและแรง ขึ้นครั้งละ 0.25% เป็นการประคองเศรษฐกิจในขณะที่เงินเฟ้อสูง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาในเรื่องการเมือง ที่ภายใน 6 เดือนจะมีการเลือกตั้งใหม่ หากเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ หรือมีการยุบสภา จะทำให้โครงการลงทุนใหม่ ๆ ไม่สามารถเดินหน้าได้ และช่วงรอลุ้นรัฐบาลชุดใหม่ ภาคเอกชน และนักลงทุนต่างชาติอาจจะชะลอการลงทุน ดังนั้นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น
นายอมรเทพ กล่าวว่า การส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 7% แต่ปีหน้าไม่ได้โตเด่นเท่าปีนี้ โดยคาดว่าอยู่ที่ 2-3% เพราะความไม่แน่นอนในต่างประเทศ การขาดแคลนวัตถุดิบ ความไม่แน่นอนในตลาดโลกทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการส่งออก ส่วนสถานการณ์เงินบาทคาดว่าจะกลับมาแข็งค่ามากขึ้น โดยครึ่งหลังปีนี้- ปี 2566 มองว่าค่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าที่ 34.50 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ
“เศรษฐกิจไทยวันนี้จะโตมาจากการส่งออกและท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันภาพภายในประเทศยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้น เพราะกำลังซื้อระดับล่างยังไม่ได้ฟื้น เมื่อเทียบกับระดับกลางและระดับบน ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจะคล้ายกับช่วงก่อนโควิด-19 ดังนั้นต้องรักษาการกระจายตัวควบคู่ไปกับการเติบโต” นายอมรเทพ กล่าว
อย่างไรก็ดี ต่อให้มีความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่อย่างน้อยเศรษฐกิจไทยยังไหลลื่นและผ่านไปได้ในปีหน้า เพราะยังมีการส่งออกและท่องเที่ยวที่ยังคอยขับเคลื่อนไปได้ และต้องดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพิ่ม เพื่อรักษาการเติบโตที่ 4% ในปีหน้า แต่ต้องเป็นการเติบโตแบบกระจายตัว
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด บรรยายพิเศษ หัวข้อ “ส่องเทรนด์ลงทุน..ฝ่าวิกฤติซ้อนวิกฤติ” ว่า ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเข้าสู่ต่ำสุดในไตรมาส 3/2565 โดยดัชนีหุ้นไทยลงไปราว 1,500 จุด ซึ่งเป็นไปได้ว่าในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา คือจุดต่ำสุดแล้ว หากเหตุการณ์ที่คาดการณ์เป็นจริง อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนก.ย. 2565 อีก 0.50% ต่อปี และเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง เป็นต้น แต่เชื่อว่าไตรมาส 4/2565 ภาพรวมการลงทุนน่าจะเป็นช่วงที่ดีขึ้น สภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยผ่านช่วงเข้มข้นไปแล้ว ซึ่งในส่วนเศรษฐกิจไทยเองก็ได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"
หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน
'สุดารัตน์' ถามนายกฯ เตรียมรับมือเศรษฐกิจปีหน้าหรือยัง ชี้แจกเงินหมื่นไม่ตอบโจทย์
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่แล้ว คือหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสูงถึง 92%
‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า
เศรษฐกิจไทย ทำไมยังไม่ไปไหนเสียที
ก่อนหน้าที่ดิฉันจะเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ชื่นชมประเทศไทยมากนัก เพราะรถติดมากแทบทุกวัน