บีโอไอปรับนโยบายเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

บีโอไอปรับนโยบาย เพิ่มประเภทกิจการ รองรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กระตุ้นการลงทุน เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน กว่า 2.1 แสนล้านบาท กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมดิจิทัลมาแรง

18 ส.ค. 2565 – นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่าที่คณะกรรมการ(บอร์ด)บีโอไอ ได้เห็นชอบเพิ่มประเภทกิจการผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 4 ประเภท ได้แก่ 1. กิจการผลิตเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง รวมถึงการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วน และการซ่อมแซมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ผลิตเอง ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี 2. กิจการซ่อมแซมเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน) 3. กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (Additive Manufacturing) ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และ4. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไมโครเทคโนโลยีในการผลิต ได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี

“การเพิ่มประเภทกิจการใหม่ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตและการซ่อมแซมเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูงเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมในภาพรวม นอกจากนี้ การผลิตแบบ Additive Manufacturing ได้กลายเป็นแนวโน้มใหม่ในการผลิต จึงจำเป็นต้องสร้างนโยบายสิทธิประโยชน์ที่ปรับเปลี่ยนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง” นางสาวดวงใจ กล่าว

ขณะที่สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือน (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2565 ที่ผ่านมา มีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน 784 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4% และมูลค่ารวม 219,710 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 42% เนื่องจากในปี 2564 มีการขอรับการส่งเสริมการผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก มีเงินลงทุนรวมสูงถึง 75,780 ล้านบาท

สำหรับคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 358 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 46 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 153,480 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70 ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมดิจิทัล มีอัตราการขยายตัวสูงสุด โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดที่ 42,410 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 212 อุตสาหกรรมดิจิทัล มูลค่าเงินลงทุน 1,450 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 202

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 395 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 130,081 ล้านบาท โดยการลงทุนจากไต้หวันมีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 36,100 ล้านบาท เนื่องจากมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน สอดคล้องกับนโยบายบีโอไอที่มุ่งให้การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันไทยไปสู่ศูนย์กลางการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค และคาดว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มาตรการสนับสนุนของรัฐบาลได้รับความสนใจจากผู้ผลิตยานยนต์อย่างกว้างขวาง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บีโอไอ หนุนเศรษฐกิจ BCG วางเป้าส่งเสริมการลงทุน 1.6 แสนล้าน

บีโอไอดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ตั้งเป้าปีนี้มีคำขอลงทุนแตะ 1.6 แสนล้านบาท หลัง 6 เดือนแรกของปี 65 มีตำขอ 7.9 หมื่นล้านบาท พร้อมนำชมสตาร์ตอัปไบโอเทค ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PHA รายแรกของไทย

บีโอไอไฟเขียวลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาทเร่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวโครงการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท เร่งเดินหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดันผลิตอีวีแบบแบตเตอรี่ พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจลงทุนผลิตแบต พร้อมยกระดับนิคมเดิม เพิ่มสิทธิประโยชน์ถือครองที่ดินดึงลงทุนต่างชาติ

บีโอไอโชว์ปี 64 ยอดขอส่งเสริมทะลุ 6.4 แสนล้านบาทโต 59%

บีโอไอโชว์ปี 64 ยอดขอส่งเสริมทะลุ 6.4 แสนล้านบาท โต 59% ชี้ FDI หนุนเพิ่มขึ้นกว่า 163% ด้านบอร์ดไฟเขียวมาตรการส่งเสริมภาคเกษตร หนุนไทยสู่ ไบโอ ฮับภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมศูนย์การค้าผลผลิตทางการเกษตรระบบดิจิทัล

บีโอไอ จับมือ เจโทร หนุนโอกาสการลงทุนระหว่างไทย – ญี่ปุ่น

บีโอไอร่วมมือเจโทร หนุนโอกาสการลงทุนระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ส่งเสริมการเชื่อมโยง จับคู่ธุรกิจ พร้อมต่อยอดเทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา หวังยกระดับประเทศไทยตามแนวทางบีซีจี