สุพัฒนพงษ์แจงยิบคลอด พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 แสนล้านบาทจัดการวิกฤตพลังงาน

สุพัฒนพงษ์ร่ายยาวแจง พ.ร.ก.ค้ำประกันเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท อุ้มกองทุนน้ำมันเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ยันอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง หนี้เพิ่มไม่มาก เตรียมเคาะดูแลกลุ่มเปราะบางเรื่องค่าไฟ

17 ส.ค.2565 - นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 ส.ค.พิจารณาวาระลับ เรื่องร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งมีวงเงินกู้ยืมของกองทุนน้ำมัน 1.5 แสนล้านบาท ว่าเป็นเรื่องการดูแลเสถียรภาพบทบาทหน้าที่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากที่ผ่านมามีความผันผวนจากปัจจัยวิกฤตต่างๆ ที่เกิด รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนลง จึงทำให้มีภาระ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงพลังงาน ดังนั้นในอดีตกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเคยมีเงินทุนติดลบอยู่หลายหมื่นล้านบาท สามารถออกเงินกู้ ตราสารหนี้ ได้เพราะเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงพลังงาน และเป็นไปโดยอัตโนมัติที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันอยู่แล้ว เมื่อมีพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมาแต่สิทธิเดิมเหล่านี้ไม่ได้ติดมาด้วยจึงต้องพยายาม ดูว่าจะใช้วิธีการเดิมโดยการกู้หรือจะทำอย่างไรแต่สิทธิเดิมเหล่านั้นไม่ตามมา ดังนั้นจึงเป็นอุปสรรค ทำให้กระทรวงพลังงานต้องหารือกับกระทรวงการคลังมาเป็นเวลานานโดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการ การเงินโดยมีกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อพยายามหาทางเลือกและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 16 ส.ค.จึงได้นำเสนอเพื่อพิจารณาแนวทางต่างๆ ส่วนที่เหลือทางคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ต้องไปดำเนินการต่อ และเมื่อเป็น พ.ร.ก. ก็จะมีผลทันทีโดยเดินไปตามหลักเกณฑ์ทั่วไป แต่เมื่ออยู่ในสมัยประชุมสภาจึงต้องนำเสนอรัฐสภา

“ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะต้องรีบดำเนินการ อีกทั้งในต่างประเทศกำลังจะเข้าฤดูหนาวจึงยังไม่ทราบว่าสถานการณ์ในต่างประเทศนั้นอาจจะมีผลต่อราคาพลังงาน ขึ้นมาอีก ดังนั้นเพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดำเนินการไปตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองที่จะสามารถช่วยประชาชนได้ต่อไป จึงจะต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วเพราะล่าช้ามาพอสมควรแล้ว เราก็ได้หาทุกวิถีทางที่จะสร้างสภาพคล่อง สร้างความน่าเชื่อถือ ให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง”

ผู้สื่อข่าวถามว่า 1.5 แสนล้านบาทนี้ เราจะกู้ให้เต็มเพดานเลยหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นรายละเอียดอีกครั้งวาระการประชุม ครม. ยังเป็นวาระลับอยู่ ยังตอบอะไรไม่ได้มาก แต่ไม่ใช่เป็นการกู้แบบคราวเดียวเพราะต้องทยอยตามความจำเป็น อย่างไรก็ตามอันนี้เป็นของเก่าที่กู้ในขณะเดียวกันของใหม่ก็เตรียมเผื่อไว้บ้าง ก็จะพยายามทำให้ดีแต่ต้องดูวินัยการเงินกลางคลังด้วยเพื่อไม่ให้เกินกรอบ อย่างไรก็ตามตัวเลข 1.5 แสนล้านบาทนั้น มาจากการคำนวณของกระทรวงการคลังซึ่งเป็นตัวเลขที่เหมาะสมและยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นอีกกี่เปอร์เซ็นต์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่น่าจะมาก แต่ไม่มั่นใจ เพราะทางกระทรวงการคลังเป็นผู้คำนวณ ค่อนข้างจะรอบคอบอยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถเริ่มกู้ได้เลยหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกฤษฎีกาที่จะนำข้อเสนอแนะต่างๆ พิจารณาทางเลือกต่างๆ ถึงความเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนนี้รวมถึงการใช้หนี้กองทุนน้ำมันที่ติดลบอยู่ด้วยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า จะตัวเลขใดก็แล้วแต่ตอนนี้ยังเป็นเรื่องลับอยู่ แต่ก็ต้องครอบคลุมทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมรัฐบาลจึงไม่เลือกเก็บภาษีลาภลอยตามที่มีการพูดถึง นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูในอดีตภาษีลาภลอยเคยมีคนคิดอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา และไม่ใช่มีเกณฑ์ที่จะทำได้ง่ายๆ

เมื่อถามว่าได้มีการพูดคุยกับ 6 โรงกลั่นอยู่หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ก็คุย แต่วันนี้ค่าการกลั่นอยู่ที่กว่า 2 บาทแล้ว หากค่าการกลั่นยืนระยะสูง 5-6 บาทอย่างต่อเนื่องก็คงต้องพูดคุยต่อ แต่ตอนนี้เหลือกว่า 2 บาท อดีตรัฐมนตรีคลังก็มาพูดเองด้วยตัวเลข 9 บาท ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขของตนเอง ขณะที่คนอื่นคำนวณได้ 5 บาท แต่ก็เข้าใจ เพราะอดีต รมต.ไม่ได้ออกมาทางนี้

เมื่อถามว่าตอนนี้พูดได้หรือไม่ว่าพับแผนการคุยกับโรงกลั่นไปแล้ว นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ถ้ามีโอกาสก็คุยต่อเนื่อง แต่วันนี้กว่า 2 บาท ถ้าเราไปคุยเขาก็คงไม่คุยด้วย ถึงแม้ว่าวันนี้ ราคาอ่อนตัวลงมา แต่เราก็ต้องไม่ประมาทเพราะสถานการณ์เมื่อเข้าฤดูหนาวอะไรๆมันก็เกิดขึ้นได้เพราะความต้องการสูงมากขึ้น อีกทั้งบรรยากาศของสงคราม ที่เราเห็นเปลี่ยนแปลงทุกวันและยังมีเรื่องของการซ้อมรบของจีนด้วย และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ มันก็มีผล เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงต้องมีความยืดหยุ่น และเตรียมความพร้อมในทุกๆเรื่อง ที่จะดูแลประชาชนรักษาเสถียรภาพ ในเรื่องที่สำคัญสำคัญนี้ให้ได้ ก็ต้องพยายามให้ดีที่สุดแต่ยังยืนยันว่าอยู่ในกรอบของวินัยการเงินการคลัง กระทรวงการคลังเองก็ไม่ได้อึดอัดแต่อย่างใด เพราะกระทรวงคลังเป็นคนคำนวณเอง จึงอยากให้ประชาชนได้สบายใจว่าไม่ใช่เป็นหนี้ใหม่ที่รัฐบาลไปก่อ เป็นเรื่องที่ดูแลของเดิมที่เคยปฏิบัติได้ และแน่นอนว่าธนาคารก็มีความมั่นใจมากขึ้น และขอเรียนว่า ไม่ว่าจะมีการแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างไรหรือไม่ การที่กองทุนน้ำมันไปกู้ หนี้นี้ก็เป็นหนี้สาธารณะ ถึงอย่างไรก็จะหลบจะซ่อนไม่ได้ จึงขอให้สบายใจว่ากระทรวงการคลังดูแลดี

“สิ่งที่สำคัญในยามวิกฤตินี้เราต้องประคับประคองให้ผ่านพ้นไปให้ได้โดยรักษาวินัยทางการเงินการคลังให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้”

ผู้สื่อข่าวถามว่าภารกิจนี้ถือเป็นความท้าทายการทำงานของรัฐบาล อย่างไรหรือไม่นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า คิดว่าท้าทายทุกรัฐบาล เพราะความท้าทายที่แท้จริง คือความไม่แน่นอน เพราะอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เช่น กรณีก๊าซแอลเอ็นจี เมื่อ 3 เดือนที่แล้วขาย 20 ดอลลาร์ต่อล้านหน่วยความร้อน ซึ่งคิดว่าแพงแล้ว มีผลไปถึงค่าไฟ ค่าเอฟทีพอสมควร แต่วันนี้ขึ้นไปกว่า 50 ดอลลาร์ ทำให้เห็นว่าเราคาดเดาไม่ได้ ทำให้แต่ละประเทศเกิดการกักตุนเพราะกลัวความหนาวเย็น ทำให้ราคากระโดดขึ้น เราจึงไม่แน่ใจว่าจะมาเบียดบังน้ำมันอีกหรือไม่ และวันนี้เราก็ใช้ถ่านหินใช้เป็นเชื้อเพลิงบ้างเพื่อพยายามลดต้นทุนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ขอเรียนตรงๆว่า ขอเพียงพวกเราประหยัดสัก 10-20% ของค่าไฟฟ้า เราเข้าใจทุกฝ่าย รัฐบาลพยายามทำดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ แต่ภายใต้สถานการณ์อย่างนี้ ยอมรับว่า ความไม่แน่นอน คือความเสี่ยง และประเมินความเสี่ยงไม่ได้ ความไม่แน่นอนคืออะไรก็ได้จะเป็นศูนย์ หรือจะเป็น 100 ก็ได้แต่ความเสี่ยงเรายังประเมินได้ว่ามีลักษณะอย่างไรและอาจจะเกิดขึ้น 30 -50% เราก็ต้องเตรียมการทุกด้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เคาะขึ้นค่าเอฟที แล้วรัฐบาลต้องรับมืออย่างไร นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ก็ต้องดูแลกลุ่มคนเปราะบางตอนนี้ให้ กกพ. ไปคิดต่อว่าเมื่อขึ้นไปอย่างนี้ กลุ่มคนเปราะบาง คนที่เคยดูแลอยู่ ที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ถ้าจะต้องดูแลต่อจะต้องใช้เงินอย่างไร มากกว่า 300-500 หน่วยจะดูแลอย่างไร ซึ่งอีกไม่นานคงทราบ เราจะรีบดำเนินการ เพราะราคาเอฟทีใหม่จะมีผลในเดือนกันยายน ซึ่งของต้องใช้งบกลางในการดูแลกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนให้น้อยที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ใช้เวลาถึงสิ้นปี 2565นี้เลยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องเป็นเช่นนั้นเพราะเป็นไปตามรอบของค่าไฟฟ้า ก็ประคับประคองกันไป เป็นสถานการณ์ที่ยากแต่เชื่อว่ารัฐบาลหนักใจทั้งนั้น แต่ขอให้ความมั่นใจว่า เรื่องเสถียรภาพวินัยการเงินการคลัง นายกรัฐมนตรีกำชับและให้ความสำคัญเป็นพิเศษทำอะไรให้อยู่ในกรอบบางครั้งอาจทำให้พวกเราได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็ต้องพยายามเต็มที่ และรัฐบาลก็รับไปดูแลส่วนหนึ่งแล้ว เช่น ค่าเอฟที กฟผ. ก็ได้ดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนที่เพิ่มเติมมาจากค่าก๊าซที่สูงขึ้น ไม่ได้ผลักเป็นภาระในค่าเอฟที

“ขอให้เกิดความมั่นใจ และให้มีความเชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเรื่องความเข้มแข็งของเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันก็ดูแลเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ภายใต้กรอบที่เราจะต้องรักษาไว้ ไม่ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินการคลัง”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง

'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.

คปท.บุกทำเนียบฯ ยื่น นายกฯ-ครม. ค้าน ‘กิตติรัตน์’ นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

คปท. ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี คัดค้านการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ดแบงก์ชาติ

‘ภูมิธรรม’ มั่นใจนายกฯกลับมาประชุมตั้ง ‘เจทีซี’ เสร็จ ชงเข้าครม.19 พ.ย.ทันที

‘ภูมิธรรม’ ระบุ หากนายกฯกลับมา เรียกถก ตั้ง เจทีซี วันนี้ก็ เข้าครม.ทันพรุ่งนี้ โยน กต.เคาะรายชื่อ ลั่น เกาะกูดไม่จบซํ้ารอยเขาพระวิหารแน่ ยัน ไม่มีเหตุผลต้องยกเลิกเอ็มโอยู 44