‘ขนส่งฯ’เตรียม Kick Off วิ่งรถเมล์ EV สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) ‘แฮปปี้แลนด์-ท่าเรือสะพานพุทธ’นำร่อง 20 คัน ดีเดย์ 20 ส.ค.นี้ พร้อมตั้งเป้ารถขนส่งสาธารณะใช้ระบบ EV ไม่น้อยกว่า 1,000 คันภายในปี 65 พร้อมรับฟังความเห็น ปชช. ปมเปลี่ยนหมายเลขรถเมล์ เตรียมประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าบนรถ-เว็บไซต์
15 ส.ค.2565-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ส.ค. 2565 เตรียม Kick Off ให้บริการเดินรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด (EV) สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) แฮปปี้แลนด์-ท่าเรือสะพานพุทธในเบื้องต้น 20 คัน จากทั้งหมด 40 คัน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปรถโดยสารของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่ในระยะแรกจะมีการทดลองนำร่องทั้งหมด 150 คัน กระจายไปในเส้นทางอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ยังได้มอบหมายให้ ขบ. ไปพิจารณาให้รถขนส่งสาธารณะ ทั้งรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) , รถร่วมบริการ ขสมก. และรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปลี่ยนเป็นรถโดยสารระบบ EV โดยในปี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ไม่น้อยกว่า 1,000 คัน จากแผนทั้งหมด 3,200 คัน
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. กล่าวถึงกระแสความสับสนของประชาชน กรณีการปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์แบบใหม่ว่า ขบ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และรับฟังความเห็นของประชาชน โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ช่วงนี้อาจจะเกิดความสับสน แต่ ขบ. ได้เดินหน้าแก้ไขปัญหา อาทิ การประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าทั้งบนรถเมล์ และเว็บไซต์ว่า สายเดิมเป็นเลขหมายใด และสายใหม่เป็นเลขหมายใด เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ก่อนหน้านี้ รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์ร้อน) สาย 8 เส้นทางแฮปปี้แลนด์–สะพานพุทธ เตรียมยุติการดำเนินกิจการเนื่องจากไม่ผ่านคุณสมบัติในเส้นทางสัมปทานเดินรถ จำนวน 77 เส้นทางในแผนการปฏิรูปฯ ทั้งนี้ เส้นทางเดินรถของสาย 8 เดิม จึงมีรถโดยสารประจำทางของบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB ผู้ได้รับสัมปทานมาเดินรถแทน โดยเรียกชื่อสายใหม่ว่า สาย 2-38 โดยจะใช้รถพลังงานไฟฟ้า พร้อมด้วยนำระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการควบคุมการเดินรถ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์สยามได้ เป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมการขนส่งทางบก ครบรอบ 81 ปี และเปิดอาคารศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการขนส่งทางถนน เพื่อให้ระบบการขนส่งทางถนนมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยง ทั่วถึง และเพียงพอ เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพมายกระดับการให้บริการตอบสนองความต้องการของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภารกิจของศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการขนส่งทางถนน คือการควบคุมกำกับดูแลการเดินรถ ความเร็ว ชั่วโมงการทำงาน และบริหารข้อมูลการเดินรถให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งด้านการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูล GPS ซึ่งเป็นนวัตกรรมดิจิทัลที่สำคัญด้านหนึ่ง เพื่อกำกับ ควบคุม ดูแล การขนส่งรถสาธารณะทุกประเภท ทั้งรถรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป รถบรรทุกวัตถุอันตราย และรถลากจูง รถโดยสารสาธารณะ เช่น รถตู้ รถโดยสารประจำทาง รถโดยสารไม่ประจำทาง (ยกเว้นรถสองแถว) จำนวนกว่า 5 แสนคัน
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ภายใต้การทำงานของศูนย์นวัตกรรมฯ แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชม. เช่น ภารกิจการตรวจสอบและควบคุมการใช้ความเร็วของรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก ซึ่งจะสามารถส่งข้อมูลแจ้งตำแหน่งของรถ เพื่อประสานสั่งการสำนักงานขนส่ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และสำนักงานขนส่งจังหวัด 76 แห่งทั่วประเทศ เข้าดำเนินการควบคุมกำกับพฤติกรรมการขับรถที่อาจเป็นอันตรายอย่างทันท่วงที ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ พัฒนาคุณภาพผู้ประกอบการขนส่งและพนักงานขับรถสาธารณะให้มีความรับผิดชอบและเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.เคาะแพ็กเกจใหญ่ช่วยเหลือ 'ลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี'
ครม. อนุมัติชุดใหญ่! จัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผู้ประกอบการ SMEs มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นแน่