11 ส.ค. 2565 – ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) ราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วยให้แก่ กฟผ. เพิ่มขึ้น 2) ปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม (Industrial User: IU) เติบโตอย่างต่อเนื่อง 5.1% จากทั้งลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่จำนวน 32.3 เมกะวัตต์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 3) การเติบโตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว รวมถึง 4) การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ ในไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2564
ด้านกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 147 ล้านบาท ลดลง 85.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้น 76.6% ของราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็น 20.7% ของรายได้รวม แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 332.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-on-Q) จากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง 4.6% และผลบวกจากการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้าตามสูตร (ค่า Ft) ทั้งนี้ จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้มีการบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสดและเป็นการบันทึกตามมาตรฐานบัญชี ทำให้บริษัทบันทึกผลขาดทุนสุทธิในไตรมาสนี้
“กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้า IU ในประเทศช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 5.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 1,729 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ด้วยการเติบโตจากทั้งลูกค้ารายเดิม และลูกค้ารายใหม่ โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีการเชื่อมเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของลูกค้ารายใหม่จำนวน 9.3 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายทั้งปีที่ไม่น้อยกว่า 55 เมกะวัตต์” ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการต้นทุน จากราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น โดย บี.กริม เพาเวอร์ มีเป้าหมายจะเริ่มนำเข้า LNG ในต้นปี 2566 เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะใช้สำหรับกลุ่มลูกค้า IU เป็นหลัก ทั้งสำหรับโครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม และโรงไฟฟ้า SPP โรงอื่น ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญา Terminal Usage Agreement กับ PTT LNG เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูง การขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และการควบคุมค่าใช้จ่าย จะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วงเวลาที่เหลือของปี และตลอดช่วง 12 เดือนข้างหน้าของบริษัทฯ
นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้าตามสูตร (ค่า Ft) ทุก ๆ 4 เดือน โดยในเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 กกพ. ได้ประกาศปรับขึ้นอีก 0.6866 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 0.9343 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มของราคาพลังงานโลก
ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ในปีนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังเดินหน้าขยายความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 B.Grimm Malaysia ได้เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 88 เมกะวัตต์ ในประเทศมาเลเซีย โดยเข้าถือหุ้น reNIKOLA Holdings Sdn. Bhd. ทำให้ B.Grimm Malaysia มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (economic interests) ที่ 45% ในโครงการ SBU Power, RE Gebeng และ Halpro Engineering ซึ่งทั้ง 3 โครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 21 ปี กับ Tenaga Nasional Berhad (บริษัทสาธารณูปโภคไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศมาเลเซีย)
ในเดือนกรกฎาคม 2565 โครงการ BPLC1R กำลังการผลิตติดตั้ง 140 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 103 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ กับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี ขณะที่ส่วนที่เหลือเป็นการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับลูกค้าอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นอกจากนี้
บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้เข้าลงทุนในบริษัท Sekong Investment Advisory Company Limited ในสัดส่วน 20% เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้าเซกอง 4A และ 4B ขนาดกําลังการผลิตติดตั้ง 355 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่แขวงเซกอง สปป. ลาว
สำหรับความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปีนี้ มีอีกหลายโครงการ ประกอบด้วย การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP 4 โครงการ (ABP1R, ABP2R และ BGPM1&2R) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม กำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 560 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 80-92% มีกำหนดการ COD ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 280 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 33-47% กำหนดการ COD ในปี 2566 และการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน อู่ตะเภา เฟสแรก มีความคืบหน้า 73% กำหนดการ COD ในปี 2566
ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 56 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวมที่ 3,379 เมกะวัตต์ โดยยังคงเป้าหมายการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และ 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ควบคู่กับเป้าหมายระยะยาวที่สำคัญ คือเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593)
ด้านการเตรียมความพร้อมภายใต้สมมติฐานสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมและความคล่องตัวในการบริหารด้านการเงิน รองรับการเติบโตของธุรกิจ และโอกาสในการลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคต บี.กริม เพาเวอร์ มีเงินสดในมือกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ด้วยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินรวมที่ 1.8 เท่า
ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาลที่ 0.03 บาทต่อหุ้น สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2565 คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 43% ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 25 สิงหาคม 2565 และวันที่จ่ายปันผล 9 กันยายน 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บี.กริม เพาเวอร์ ผนึก ม.ธรรมศาสตร์ ลงนาม MOU ต่อยอดและพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน
บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)
บี.กริม เพาเวอร์ ผนึก “ราช กรุ๊ป” และ Lao World Engineering and Construction ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง ใน สปป.ลาว
กรุงเทพฯ - บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานทดแทน ล่าสุดร่วมกับ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (“สปป. ลาว”) เดินหน้าตามยุทธศาสตร์
ธปท.เผยสินเชื่อแบงก์ไตรมาส 2 อืดจับตาหนี้เสียรถยนต์
“ธปท.” กางผลงานแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 2/2566 โกยกำไร 7.4 หมื่นล้านบาท เฮ! รายได้จากดอกเบี้ยพุ่ง โอดสินเชื่ออืด ติดลบ 0.4% หนี้เสียลดลงเหลือ 4.9 แสนล้านบาท ชี้หนี้ stage 2 ขยับ จับตาหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ปะทุ
‘แบงก์ชาติ’ ประเมินเศรษฐกิจไตรมาส 2 แผ่ว
“แบงก์ชาติ” ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2566 แผ่ว ชี้ส่งออกแผ่วกว่าคาด มองภาพรวมยังฟื้นตัวได้ จากอานิสงส์บริโภคในประเทศ-ท่องเที่ยว ลุ้นต่างชาติเข้าไทยแตะ 29 ล้านคนตามเป้า พร้อมแจงถอนคันเร่งนโยบายการเงิน เตรียมหาจุดสมดุลของดอกเบี้ย
BEM คัมแบ็ก!! กำไร Q2 โต 901 ลบ. จากปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้นและ ศก.ฟื้นตัว ส่งผลกำไรครึ่งปี 66 พุ่ง 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 70
BEM ผงาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/2566 จำนวน 901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42 เหตุจากเศรษฐกิจฟื้น
SAMART ฟื้นตัวทำกำไร เสริมแกร่ง นำ SAV เข้าตลาด กันยายนนี้
กลุ่มสามารถแจ้งรายได้รวมไตรมาส 2 ปี 66 จำนวน 2,075 ล้านบาท โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 230 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน