‘ศาลปกครองกลาง’ยกคำร้องขอให้ระงับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เปิดทาง ‘BEM-ITD’ เดินหน้าชิงประมูลรอบสอง
9 ส.ค.2565-ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 1646/2564 คดีหมายเลขแดงที่ /25 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี กับผู้ถูกฟ้องคดี คือ คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ 2 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีบริษัท บีทีเอส ยื่นศาลขอทุเลาการบังคับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ โดยศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำร้องของผู้ฟ้องคดี
ทั้งนี้เห็นว่าเนื่องจากยังไม่สามารถคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนที่พิพาทได้ จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธา (Care of Work) ซึ่งประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายที่ต้องใช้จ่ายในการดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธา เฉลี่ยเดือนละ 41.26 ล้านบาท กรณีจึงรับฟังได้ว่า หากมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ดังนั้น กรณีนี้จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของบีทีเอส คาดว่าคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จะเดินหน้าการพิจารณาด้านคุณสมบัติ และประกาศผลและเข้าสู่การเปิดข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค และพิจารณาข้อเสนอต่อไปตามขั้นตอน
รายงานข่าวจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่าตามที่ รฟม.ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดยต่อมาบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) รวมทั้งประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย
และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอ โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็น โดยสรุปดังนี้
1. การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อประกอบการจัดทำประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ประกาศคณะกรรมการ PPP) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563
2. ประกาศเชิญชวนฯ ได้เผยแพร่ตามขั้นตอนเป็นระยะเวลากว่า 60 วันก่อนกำหนดวันเปิดรับซองเอกสารในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. 2563
3. ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวที่ได้กำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ให้มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธาในระดับสูง เป็นไปเพื่อให้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของเอกชน ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
4. ประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 มีเอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP ทั้งในและต่างประเทศ รวม 14 ราย ซึ่งเห็นได้ว่ามีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ที่มีเอกชนผู้ซื้อเอกสาร RFP เพียง 10 ราย
5. การเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ไม่อาจมีเอกชนรายหนึ่งรายใดเพียงรายเดียวที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวน แต่จะต้องเป็นกรณีที่มีเอกชนหลายรายร่วมกันเพื่อเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการร่วมลงทุน ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่ง BTSC สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ
สำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ซึ่งภายหลังจากการรับซองเอกสารข้อเสนอฯ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่มีเอกชน 2 รายยื่นข้อเสนอ และได้เปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินของ รฟม. เพื่อนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ศรีสุวรรณ’ นำชาวระยอง ฟ้องระงับถมทะเลพัฒนาท่าเรือเฟส 3 กว่า 1,000 ไร่
พี่ศรีฯ นำชาวระยองฟ้องระงับถมทะเลระยองพัฒนาท่าเรือเฟส 3 กว่า 1000 ไร่ ชี้ทำธรรมชาติพัง -กระทบเส้นอาณาเขตทางทะเล
'จุลพงศ์' อัด 'กรมที่ดิน-รฟท.' ยื้อปม 'เขากระโดง' ให้วนเวียนเอื้อประโยชน์นักการเมือง
'จุลพงศ์' ยันคำพิพากษา 'เขากระโดง' เป็นกรรมสิทธิ์รฟท.สามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ อัด'กรมที่ดิน' ใหญ่กว่าศาลเลือกปฏิบัติเพิกถอนสิทธิ์บางแปลงแต่บางแปลงตั้งกก.สอบสวน เอื้อนักการเมือง ข้องใจ 'รฟท.' ไม่เลือกวิธีฟ้องกรมที่ดินให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ทำให้วนเวียนล่าช้า
'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง
บ่ายสองลุ้น! คำตัดสินคดีชาวบ้านฟ้อง กกพ.ปมไฟเขียวสร้างโรงไฟฟ้าความร้อน 150 MW
ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ส.32/2562
'ชาญ พวงเพ็ชร์' แพ้คดี! ศาลปกครองกลางสั่งชดใช้ 2.3 ล้าน ปมซื้อเครื่องออกกำลังกาย
คดีหมายเลขดำที่ 1015/2565 คดีหมายเลขแดงที่ 2245/2567 คดีที่นายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ฟ้องเพิกถอนคำสั่งที่ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
'ศรีสุวรรณ' นำชาวลาดพร้าวฟ้องโยธากทม.-คชก.อนุมัติสร้างคอนโด 6 แท่งเลียบทางด่วนฯ
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อฟ้อง ผอ.สำนักการโยธา ผอ.เขตลาดพร้าว และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA (คชก.) ของ กทม.