“พาณิชย์”เผยน้ำมัน ผักสด ราคาขยับขึ้น เป็นปัจจัยหลักดันเงินเฟ้อต.ค.64 เพิ่ม 2.38% ส่วนยอดรวม 10 เดือน เพิ่ม 0.99% คาดแนวโน้มยังเป็นขาขึ้น แต่ไม่น่าจะขึ้นมาก เหตุรัฐบาลเข้ามาดูแลราคาน้ำมัน ผักสดราคามีทิศทางขยับลง คาดทั้งปียังอยู่ในกรอบ 0.8-1.2%
5 พ.ย. 2564 นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนต.ค.2564 เท่ากับ 101.96 เทียบกับเดือนก.ย.2564 เพิ่มขึ้น 0.74% เทียบกับต.ค.2563 เพิ่มขึ้น 2.38% เป็นการกลับมาขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 0.99% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.59 ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2564 และเพิ่มขึ้น 0.21% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2563 และเฉลี่ย 10 เดือน เพิ่มขึ้น 0.23%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนต.ค.2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้น มีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มสูงขึ้นราคาราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น 37.09% ตามราคาตลาดโลก และสินค้ากลุ่มอาหารสดบางชนิดปรับตัวสูงขึ้น เช่น ผักสด ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพิ่ม 7.08% และราคาไข่ไก่ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งกลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน และค่าบริการแต่งผมชาย เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่ฉุดเงินเฟ้อ มาจากการลดลงของสินค้ากลุ่มอาหารสดอื่น ๆ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด ผลไม้สด และค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ที่ลดลงจากมาตรการภาครัฐ ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณผลผลิต
สำหรับเดือนต.ค.2564 มีสินค้าที่ปรับขึ้นราคา 226 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันพืช ผักกาดขาว ผักคะน้า แตงกวา ผักบุ้ง ไข่ไก่ ไก่ย่าง อาหารกลางวัน เป็นต้น สินค้าลดลง 133 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร เงาะ มะม่วง หัวหอมแดง มะนาว ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาภาครัฐบาล เป็นต้น และสินค้าไม่เปลี่ยนแปลงราคา 71 รายการ
นายรณรงค์ กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ จะยังคงเป็นขาขึ้น คงไม่สูงเท่าเดือนต.ค.2564 แต่ยังคงสูงอยู่ โดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมัน ที่แม้จะมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงการขนส่ง แต่รัฐบาลได้เข้ามาดูแล ทำให้ราคาไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้ และยังมีปัจจัยกระตุ้นการบริโภคจากการเปิดประเทศ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจดำเนินการได้ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น แต่ผักสด ที่ราคาเคยสูง แนวโน้มราคาน่าจะปรับตัวลดลง เพราะผลผลิตจะเริ่มเข้าสู่ตลาดมากขึ้น และสินค้าอาหารสดอื่น ๆ เช่น ข้าว เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สนค.ประเมินว่า เงินเฟ้อทั้งปี 2564 จะอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ที่เฉลี่ยระหว่าง 0.8–1.2% ค่ากลางอยู่ที่ 1.0% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง แต่หากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะมีการทบทวนอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ธนกร' วอนโซเชียล-ฝ่ายค้าน ลดดรามาน้ำท่วมใต้ ยันรัฐบาลเร่งช่วยผู้ประสบภัย
'ธนกร' ขอโซเชียลลดดรามาน้ำท่วมใต้ ยัน รมต.ทุกกระทรวง ระดมกำลังดูแลผู้ประสบภัยเต็มที่ กระตุกฝ่ายค้านอย่ามุ่งโจมตีการเมือง แนะร่วมมือกันแก้วิกฤต