'วิโรจน์-ก้าวไกล' หนุนจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ให้หนี้พอกแสนล้าน จนถูกบีบให้ต่อสัมปทานกับ BTS ด้วยเงื่อนไขเสียเปรียบที่ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารราคาแพง หนุนสก.ใช้กลไกในสภากทม. อนุมัติงบฯเพื่อนำไปใช้หนี้ พร้อมแนะ4 ข้อให้ผู้ว่าฯแก้ไข
3ส.ค.2565- นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
[ก้าวไกลหนุนจ่ายหนี้รถไฟฟ้า ไม่ให้หนี้พอกแสนล้าน จนถูกบีบให้ต่อสัมปทาน]
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
ภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ กทม. ค้างจ่ายกรุงเทพธนาคม ทำให้กรุงเทพธนาคมค้างจ้าย BTS อีกทอดหนึ่ง ตั้งแต่ เม.ย.60-เม.ย.65 รวมทั้งสิ้น 35,459,486,964.87 บาท แยกเป็น
- ค่าเดินรถและซ่อมบำรุง = 17,609,605,690.59 บาท และ
- ค่าจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ เฉพาะส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-เคหะ และ หมอชิต-คูคต) = 17,849,881,274.28 ล้านบาท
.
ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เคยมีการประมาณการงบอุดหนุนส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่ปี 2562-2572 เอาไว้ที่ 9,001.60 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมา กทม. ไม่เคยมีการขออนุมัติงบอุดหนุนนี้จากสภา กทม. เลย พอส่วนต่อขยายที่ 2 มีแต่รายจ่าย แต่ไม่เคยมีรายได้ เพราะค่าโดยสารก็ไม่เคยเก็บ เงินอุดหนุนจาก กทม. ก็ไม่เคยได้ จึงทำให้ขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีประชาชนตั้งข้อสันนิษฐานว่า “เป็นความจงใจที่จะบริหารส่วนต่อขยายที่ 2 ให้ขาดทุนเป็นหนี้ก้อนมหาศาล เพื่อให้ กทม. เสียเปรียบในการเจรจาต่ออายุสัมปทานกับ BTS หรือไม่”
.
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือ ในเมื่อแล้วงบที่ควรนำไปใช้หนี้ กลับไม่ถูกเอาไปจ่ายให้เจ้าหนี้ แล้ว กทม. เอางบก้อนนั้น ทั้งค่าจ้างเดินรถ และดอกเบี้ย รวมๆ กันปีละกว่า 6,000 ล้านบาท ไปทำอะไร ประชาชนได้ประโยชน์แค่ไหน ที่ผ่านมาควรเอางบที่ไปทำคลองช่องนนทรี คลองโอ่งอ่าง มาจ่ายหนี้ จะไม่ดีกว่าหรือ อย่างน้อยๆ หนี้ที่มีอยู่ มันจะได้ไม่ถูกทบต้นทบดอก จนกลายเป็นหนี้ก้อนมหึมาแบบนี้
.
ผมประเมินคร่าวๆ อย่างนี้ว่า กทม. มีภาระเป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ปีละ 3,522 ล้านบาท (หรือเดือนละ 293 ล้านบาท) สำหรับภาระดอกเบี้ย ถ้าคิดตามกฎหมายเดิมในอัตราร้อยละ 7.5 ก็ตกปีละ 2,659 ล้านบาท (หรือเดือนละ 222 ล้านบาท หรือวันละ 7.4 ล้านบาท) หรือถ้าคิดตามกฎหมายใหม่ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 (อัตราดอกเบี้ยกรณีไม่ได้ระบุ ร้อยละ 3 + ดอกเบี้ยปรับร้อยละ 2) ก็ตกปีละ 1,773 ล้านบาท (หรือเดือนละ 148 ล้านบาท หรือวันละ 4.9 ล้านบาท)
.
ผมเห็นด้วยกับผู้ว่าชัชชาติ ที่จะต้องหาทางทยอยชำระหนี้ก้อนหนี้ให้ได้ เพราะมิฉะนั้นหนี้ก้อนนี้ จะถูกทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ ซึ่งผมประเมินเอาไว้ว่าเมื่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวสิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2572 กทม. จะเป็นหนี้ BTS สูงถึง 85,968-100,698 ล้านบาท แล้วด้วยหนี้ก้อนมหาศาลขนาดนี้ อาจทำให้ กทม. ต้องยอมต่ออายุสัญญาสัมปทานให้กับ BTS ด้วยเงื่อนไขเสียเปรียบ ที่ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าในราคาที่แพงอย่างไม่เป็นธรรม
.
ในเบื้องต้น ผมได้นำเอาปัญหานี้หารือกับ ส.ก.ก้าวไกล เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ส.ก.ก้าวไกล พร้อมที่จะใช้กลไกในสภา กทม. อนุมัติงบ และเงินสะสมให้กับผู้ว่า เพื่อนำไปใช้หนี้ก้อนนี้ แต่การแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว พรรคก้าวไกลจำเป็นต้องเสนอแนะท่านผู้ว่า และฝ่ายบริหารของ กทม. อย่างตรงไปตรงมาว่า
1. ผู้ว่าควรต้องหารือเรื่องนี้กับรัฐบาลโดยเร็ว เกี่ยวกับหนี้อีกก้อนหนึ่งที่มีมูลค่าสูงถึง 69,105 ล้านบาท ที่ทาง รฟม. ผลักภาระมาให้กับ กทม. อย่างไม่เป็นธรรม
2. ผู้ว่าควรต้องเร่งรัดทวงหนี้ ที่เกิดจากการที่รัฐบาลลดภาษีที่ดิน 90% ในปี 63-64 โดยรัฐบาลสัญญาว่าจะจ่ายชดเชยคืนให้กับ กทม. แต่ปัจจุบันรัฐบาลยังคงค้างจ่าย กทม. อยู่ถึง 30,000 ล้านบาท
3. ผู้ว่าควรเร่งวางแผนเพื่อ “เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวใหม่” อย่างโปร่งใส มีการประเมินตัวเลขต่างๆ ทั้งประมาณการจำนวนผู้โดยสาร ประมาณการรายได้อื่นที่ไม่ใช่ค่าโดยสาร และราคากลางต่างๆ ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และแจ้งต่อรัฐบาลให้ยุติความพยายามที่จะต่ออายุสัญญาสัมปทานได้แล้ว
4. ผู้ว่า และฝ่ายบริหารต้องมีนโยบายในการเร่งรัดการจัดเก็บรายได้ จากนายทุนในเครือข่ายอุปถัมภ์ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เป็นอภิสิทธิ์ชน ที่หลบเลี่ยงการจ่ายภาษี และค่าธรรมเนียมให้กับ กทม. มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น
- ภาษีที่ดินที่ปัจจุบันนายทุนอสังหาริมทรัพย์หลบเลี่ยงการจ่ายด้วยการปลูกสวนกล้วยกลางเมือง
- ภาษีป้าย โดยเฉพาะป้ายดิจิตอล ที่มีการจ่ายค่าคุ้มครองให้กับผู้มีอิทธิพล แทนที่จะจ่ายให้กับ กทม.
- ค่าธรรมเนียมขยะ ที่ปัจจุบันรีดเก็บแต่ครัวเรือนผู้อยู่อาศัย แต่กลับปล่อยให้ห้างใหญ่ และร้านสะดวกซื้อตีตั๋วเด็ก จ่ายถูกอย่างไม่สมสัดส่วนกับปริมาณขยะที่เป็นภาระในการจัดเก็บของ กทม.
- ค่าบำบัดน้ำเสียที่โรงงานขนาดใหญ่ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคูคลอง โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยกับสังคม
.
ถ้าการจัดเก็บรายได้ของ กทม. ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เน้นแต่การรีดเก็บเอาจากครัวเรือน และผู้ประกอบการรายเล็กๆ โดยปล่อยปละละเลย ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ และนายทุนเครือข่ายอุปถัมภ์ หลบเลี่ยง หรือจ่ายถูก ได้อย่างที่เป็นอยู่ ในท้ายที่สุด กทม. ก็จะจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าประมาณการ เมื่อรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แถมยังต้องแบกหนี้ก้อนมหาศาล ในท้ายที่สุด กทม. จะไม่มีงบประมาณมาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ไม่มีงบประมาณมาพัฒนาเมือง ให้เป็นไปตามนโยบายของท่านผู้ว่า
.
อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ว่าอย่าได้กังวลใจ อะไรที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ส.ก.ก้าวไกลทุกคน พร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของท่านผู้ว่าอย่างเต็มที่เสมอครับ
.
.
อ้างอิง:
https://www.prachachat.net/general/news-995938
https://data.bangkok.go.th/dataset/1700
https://www.prachachat.net/breaking-news/news-995459
https://www.prachachat.net/breaking-news/news-99654
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เพื่อความสบายใจ 'สส.พรรคส้ม' แจงยิบ 3 ประเด็น ต้องฟ้องหมิ่นประมาท ปกป้องสาธารณะ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.) โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเห็นกรณีปชน.จะฟ้องบุคคลที่กล่าวหาปชน.เป็นแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็น ว่า
ศาลรธน.ยืนยัน ‘อุดม’ ไม่เสียดสี แค่ตอบ ‘ข้อกม.’
ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือตอบกลับสภาผู้แทนฯ ยืนยัน "อุดม สิทธิวิรัชธรรม" ตุลาการศาล รธน. แสดงความเห็นหลังยุบพรรคก้าวไกล "ยุบ 3 วันตั้งพรรค"
'ชัยธวัช' ยกอดีตมี 'นิรโทษกรรม ม.112' จี้พรรคการเมืองตกผลึกได้แล้ว
'ชัยธวัช' จี้ 'พรรคการเมือง' ควรรีบตกผลึก 'นิรโทษกรรม' เหตุ ปปช.รออยู่ ชี้ ในอดีตก็มี 'นิรโทษกรรม ม.112' มาแล้ว ไม่เกี่ยวกับความจงรักหรือไม่จงรักภักดี บอกของ กมธ. เป็นแค่รายงานศึกษา ขอ 'รัฐบาล' อย่ากังวลจนเกินไป
รมว.ดีอีได้ทีเห็นพ้อง 'วิโรจน์' รุมยำแบงก์ชาติเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์
'ประเสริฐ' เห็นด้วย 'วิโรจน์' กระทุ้งผู้ว่าแบงก์ชาติ เร่งระบบหน่วงเงิน -ธนาคารพาณิชย์ต้องร่วมรับผิดชอบร่วมกับเหยื่อ หลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์เล่นงานหมดตัว
'วิโรจน์' แนะวิธีปราบยาเสพติดต้องจับตัวเป้งไม่ใช่ปลาซิวปลาสร้อย
'วิโรจน์' ชี้การแก้ปัญหายาเสพติด ต้องสาง 3 ปม จี้เร่งจับตัวใหญ่พร้อมยึดทรัพย์ ไม่ใช่จับตัวเล็กมาตีตราทำยอด พร้อมนำเงินไปสนับสนุนการบำบัดฟื้นฟูเพิ่ม