“ธปท.” การันตีเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังโตแรง จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ย ชี้เงินทุนจ่อไหลออกระยะสั้น แต่ยังไม่น่ากังวล มองตามหลักการคนละครึ่งเฟส 5 ช่วยกระตุ้นบริโภค
27 ก.ค. 2565 – นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริการการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2565 ยังขยายตตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโตได้สูงกว่า 3% เล็กน้อย จากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับเพิ่มขึ้นจากหมวดบริการเป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคบริการฟื้นตัว
“ไตรมาส 2/2565 ถ้าดูตามเครื่องชี้เศรษฐกิจดีเกือบทั้งหมด ทำให้คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องมากกว่า 3% เล็กน้อย ส่วนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมองว่ายังมีแรงส่งจากการบริโภคเอกชน และนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังขยายตัวต่อได้ ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ให้รอดูจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีอีกครั้ง ส่วน ธปท. ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.3% ตามคาดการณ์เมื่อเดือน มิ.ย. 2565” นางสาวชญาวดี กล่าว
นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า ในช่วงสั้น ๆ ประมาณสัปดาห์หน้าอาจจะยังเห็นสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีผลต่อมุมมองนักลงทุนต่อภาพเศรษฐกิจและภาพการเงิน โดยนักลงทุนยังคงกังวลเรื่องความเสี่ยง ไม่ใช่แค่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่จะสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจเป็นผลทำให้นักลงทุนมีการปรับตัวและจะทำให้มีแนวโน้มเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะสั้น โดยเฉพาะการทยอยออกจากประเทศที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์เสี่ยง อย่างประเทศตลาดเกิดใหม่ เข้าสู่ประเทศที่เป็นตลาดปลอดภัย แต่ยังไม่เห็นอะไรที่น่าเป็นกังวล
สำหรับมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 นั้น จากหลักการและการประเมินในช่วงที่ผ่านมา เป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับวงเงินที่จะเข้ามาในระบบด้วย ด้านประสิทธิผลถือว่ากระตุ้นได้ดี
นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย. 2565 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำเป็นสำคัญ
สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยปรับดีขึ้นในแทบทุกหมวด ยกเว้นการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน เป็นผลจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตทำให้ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทยอยปรับดีขึ้นตามสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากขึ้น ส่วนแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2/2565 ขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสแรก ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากทั้งการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการลงทุนด้านการก่อสร้าง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวม
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 7.67 แสนคน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในเกือบทุกสัญชาติ จากการที่ภาครัฐยกเลิกการลงทะเบียนเข้าไทยผ่านระบบ Test&Go ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2565 และอนุญาตให้เดินทางผ่านชายแดนไทยได้มากขึ้น อีกทั้งหลายประเทศต้นทางได้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ ขยายตัวที่ 10.7% ลดลงจากเดือนก่อนหน้า -0.5% ตามการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง หลังจากที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้การส่งออกชิ้นส่วนและยานยนต์ปรับลดลงจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตของรถยนต์นั่ง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในหลายหมวด อาทิ สินค้าเกษตร โลหะ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัวได้ ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำ ปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มมากขึ้นและการนำเข้าวัตถุดิบอื่น ๆ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น
ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด อาทิ หมวดยานยนต์ หมวดปิโตรเลียม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามการผลิตรถกระบะ การผ่อนคลายมาตรการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์เพื่อบริโภคในร้าน และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตหมวดชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ลดลง สอดคล้องกับการส่งออกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับลดลง
ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนตามการเบิกจ่ายงบกลางเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เป็นสำคัญ ส่วนการเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขยายตัวได้ตามการเบิกจ่ายในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมซึ่งได้เร่งไปในช่วงก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ 7.66% โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันขายปลีกตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ ตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวบแล้ว 9 หนุ่มนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ซิ่งป่วนเมืองภูเก็ต
สภ.ฉลอง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 เวลา 01.04 น. มีพลเมืองดีได้แจ้ง ศูนย์ 191 มีชายชาวต่างชาติรวมกลุ่มรถประมาทหวาดเสียว
ข่าวดี สมาคมธนาคารไทย เตรียมลดภาระชำระหนี้ช่วยลูกค้ารายย่อย
สมาคมธนาคารไทย ร่วมมือกับภาครัฐเตรียมออกมาตรการลดภาระชำระหนี้ ช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก
คปท.-ศปปส.-กองทัพธรรม ยื่นหนังสือค้านกระบวนการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
กลุ่มมวลชน ซึ่งเป็นตัวแทนจากเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม
'พปชร.' จี้รัฐบาลประมูลไฟฟ้าพลังงานทางเลือกโปร่งใส หวั่นแจกเงินดิจิทัลรอบสองไม่กระตุ้นศก.
'พปชร.'จี้ รัฐบาลประมูลไฟฟ้าพลังงานทางเลือกโปร่งใส หลังใช้คุณสมบัติผู้ประมูลเป็นตัวตั้ง เหมือนไม่มีเจตนาลดราคา ข้องใจ รองนายกฯเศรษฐกิจ-รมว.พลังงาน พูดสวนทางกัน พร้อมจี้ รบ.ตอบให้ชัดเจน แจกเงินดิจิทัลรอบสองเมื่อไหร่ หวั่นทิ้งระยะนาน ไม่กระตุ้นศก. เพิ่มภาระคลัง ทำไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง