มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565 ระยะที่ 2
26 ก.ค. 2565 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 รับทราบและอนุมัติตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คณะกรรมการฯ) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 20/2565 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบโครงการ ดังต่อไปนี้
1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรฯ ระยะที่ 5 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีบัตรฯ) จำนวนไม่เกิน 13.34 ล้านคน ทั้งนี้ หากผู้มีบัตรฯ ประสงค์จะรับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องสละสิทธิการเป็นผู้มีบัตรฯ โดยขอให้นำบัตรฯ มาคืนที่กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัด ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 16.30 น. (ปิดตามเวลาราชการ) โดยการคืนบัตรฯ ดังกล่าว ผู้มีบัตรฯ จะไม่สามารถกลับมาขอรับบัตรฯ ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 และ 2561 ได้อีก นอกจากนี้ การลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการลงทะเบียนและสิทธิคงเหลือภายใต้โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5
2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ ระยะที่ 3 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าฯ และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนหรือเดินทางไปใช้จ่ายวงเงินที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้) ผู้ที่ลงทะเบียนด้วยตนเองไม่สำเร็จเนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิตามโครงการเราชนะ กลุ่ม 4 จำนวนไม่เกิน 2.23 ล้านคน ทั้งนี้ หากผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ ประสงค์จะรับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 และถือเป็นการสละสิทธิตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ ระยะที่ 3 และจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก
3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 สนับสนุนวงเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป บริการนวดสปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ บัตรกำนัล บัตรเงินสด และบริการรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นการชำระค่าสินค้าหรือบริการล่วงหน้า และสินค้าหรือบริการที่กระทรวงการคลังกำหนด จากภาครัฐในอัตราร้อยละ 50 ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 800 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 ให้กับประชาชนผู้ได้รับสิทธิที่เข้าร่วมโครงการจำนวนไม่เกิน 26.5 ล้านคน ในส่วนของการลงทะเบียนและการใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีรายละเอียดและระยะเวลาดำเนินโครงการ ดังนี้
3.1 การลงทะเบียนและการใช้จ่าย
3.1.1 สำหรับประชาชนผู้ที่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 สามารถยืนยันสิทธิเพื่อเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565 โดยจะต้องใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 ในการซื้อสินค้าหรือบริการภายใต้โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ครั้งแรกผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 22.59 น. ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5
3.1.2 สำหรับประชาชนทั่วไปนอกเหนือจาก 3.1.1 จะต้องดำเนินการ ดังนี้
(1) กรณีเป็นประชาชนที่เคยได้รับสิทธิมาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565
(2) ประชาชนนอกจาก (1) สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับการยืนยันสิทธิจากการลงทะเบียนตาม 3.1.2 ก่อนวันที่ 1 กันยายน 2565 จะต้องใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 โดยการซื้อสินค้าหรือบริการในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ครั้งแรกผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 22.59 น. ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จะถูกตัดสิทธิในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 และสำหรับประชาชนที่ได้รับการยืนยันสิทธิจากการลงทะเบียนตาม 3.1.2 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 เป็นต้นไป จะต้องใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 โดยการซื้อสินค้าหรือบริการในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ครั้งแรกผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อความผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือข้อความสั้น (SMS) แจ้งยืนยันสิทธิในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จะถูกตัดสิทธิในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5
3.2 คุณสมบัติประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ (1) ประชาชนที่มีสัญชาติไทย (2) มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน (3) มีบัตรประจำตัวประชาชน (4) ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามฐานข้อมูลกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 และไม่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 (5) ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ และ (6) ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ หรือฝ่าฝืนมาตรการใด ๆ ของรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
3.3 การยืนยันตัวตน ก่อนการใช้สิทธิครั้งแรก ผู้ได้รับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนที่สาขาหรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) ยกเว้นผู้ที่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทยฯ หรือผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “Krungthai NEXT” ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนกับธนาคารกรุงไทยฯ แล้ว ไม่ต้องยืนยันตัวตนใหม่อีก
3.4 การเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการร้านค้า สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป เวลา 06.00 – 22.00 น. จนกว่ากระทรวงการคลังจะประกาศปิดรับสมัคร โดยผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” แล้ว และประสงค์จะเข้าร่วมโครงการต่อไปจะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือสาขาหรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทยฯ
โฆษกกระทรวงการคลังยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการทั้ง 3 โครงการ ครอบคลุมประชาชนจำนวน 42 ล้านคน โดยจะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวน 48,628 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีไม่มีการดำเนินโครงการทั้ง 3 โครงการ อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'รมว.ท่องเที่ยว' นำร่อง 'แอ่วเหนือคนละครึ่ง' แพจเกจกระตุ้นท่องเที่ยวปลายปี
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางตรวจเยี่ยม พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ระหว่างวันที่ 11-12 ต.ค.67 ในสถานที่ท่องเที่ยว
ขุดคำพูด 'เผ่าภูมิ' โจมตีคนละครึ่ง ตอนนี้เป็นรมต.แล้ว คงได้บทเรียนอย่าพูดแต่เอามัน
กรณีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่งนั้น
ลากไส้พรรคเพื่อไทย เคยด่า 'คนละครึ่ง' ต่อให้สิ่งที่ทำดี ถ้าอยู่ฝ่ายตรงข้ามก็จ้องโจมตี
จากกรณีนายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวว่า จะมีการฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง
'ธนกร' หนุน 'สรวงศ์' ฟื้น 'คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน' ยุคลุงตู่
'ธนกร' หนุน 'สรวงศ์' ฟื้นคนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกันสมัยรัฐบาล 'ลุงตู่' หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักดัน 'ไทยเที่ยวไทย' ในประเทศบูมช่วงไฮซีซั่น เชื่อทำเงินสะพัดแน่ช่วงปลายปี
'คลัง' ยัน 'เศรษฐา-พิชัย' ไม่ได้ทำผิด พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ขอชี้แจงกรณีข้อกล่าวหารัฐบาลปล่อยกู้โครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (สินเชื่อซอฟท์โลน) โดยใช้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังแห่งรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) สองมาตรฐาน ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย