22 ก.ค. 2565 – นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเดือนพ.ค.2565 มีมูลค่า 757.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 69.70% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,014.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.03% และยอดรวม 5 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 3,289.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 46.90% และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 7,589.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 113.96%
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากการเปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาด มีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ส่วนทองคำที่เคยมีการส่งออกไปเก็งกำไรในช่วงราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เริ่มส่งออกลดลง ตามราคาตลาดโลกที่ลดลง
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เพิ่ม 53.53% อินเดีย เพิ่ม 158.21% ฮ่องกง เพิ่ม 7.6% เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังที่ปีที่ผ่านมา การส่งออกชะลอตัวมาโดยตลอด เยอรมนี เพิ่ม 16.61% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 73.52% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 123.88% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 17.95% เบลเยี่ยม เพิ่ม 35.86% อิตาลี เพิ่ม 103.97% และญี่ปุ่น เพิ่ม 10.74%
ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 13.95% เครื่องประดับทอง เพิ่ม 61.79% เพชรเจียระไน เพิ่ม 70.70% พลอยก้อน เพิ่ม 43.49% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 91.37% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 60.80% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 34.81% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำจากโลหะมีค่า เพิ่ม 38.28% ส่วนเครื่องประดับแพลทินัม ลด 14.82% เพชรก้อน ลด 22.04%
นายสุเมธกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ จะยังดีขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ตามการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น และการที่เงินบาทอ่อนค่า ได้ส่งผลดีให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาการระบาดของโควิด-19 ที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กดดันต่อต้นทุนการผลิตสินค้าหลายกลุ่ม และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้หลายประเทศเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ในระยะต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม GIT ได้เดินหน้าสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ทั้งการผลักดันโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (BWC) การผลักดันมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่า หรือ GIT Standard เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรม และการผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำตลาด ทั้งในและต่างประเทศ คาดว่า จะส่งผลดีต่อการซื้อขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับได้เพิ่มขึ้น