ส.อ.ท.ห่วงเศรษฐกิจถดถอยกระทบส่งออกไทยช่วงครึ่งปีหลัง

ส.อ.ท.จับตาเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะจากสหรัฐและอียูคู่ค้าหลักอาจส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง เผยดัชนีเชื่อมั่นเอกชนเดือนมิ.ย. ยังโตในรอบ 3 เดือน พร้อมจับตาเมียนมาระงับชำระหนี้ใกล้ชิด อาจฉุดค้าชายแดนไทยลดลง

21 ก.ค. 2565 – นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ยังคงกังวลภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อที่ทำให้ราคาวัตถุดิบและพลังงาน ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบหรือสินค้าไม่คลี่คลาย ทำให้ต้นทุนการผลิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังของปีนี้ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอยจากหลายประเทศเผชิญภาวะเงินเฟ้อเริ่มส่งผลให้คำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงโดยเฉพาะสหรัฐและสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งอาจกดดันต่อการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังชะลอตัวตาม

“ ส่งออกปีนี้เรามองว่ายังคงเติบโตอยู่แต่ยังกังวลครึ่งปีหลังชะลอตัวจากแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯและอียูถดถอยทำให้แรงซื้อในประเทศตกต่ำ และยังต้องติดตามกรณีที่สหรัฐฯอาจปรับลดกำแพงภาษีฯนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อแก้ไขภาวะเงินเฟ้อซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯขึ้นกำแพงภาษีเพื่อทำสงครามการค้าและทำให้สหรัฐฯหันมานำเข้าสินค้าจากไทยซึ่งหากลดภาษีฯอาจทำให้การส่งออกของไทยอาจลดลงได้เช่นกัน”นายเกรียงไกรกล่าว

ขณะที่ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย. 2565 อยู่ที่ระดับ 86.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.3 ในเดือนพ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนโดยมีปัจจัยบวกจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มเติม การปรับลดระดับการเตือนภัย โควิดจากระดับ 3 เป็น 2 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่ภาคการผลิตมีทิศทางที่ดีขึ้นสอดคล้องกับดัชนีฯคำสั่งซื้อสินค้าและยอดขายในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้การที่ประเทศจีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เมืองสำคัญ ทำให้สั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องติดตามคือกรณีที่ธนาคารกลางเมียนมามีคำสั่งให้บริษัทต่างๆ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่มีเงินกู้ต่างประเทศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศชั่วคราวเพื่อรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศนั้นส.อ.ท.ได้มอบหมายให้สำรวจผลกระทบ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมรวมถึงการค้าชายแดนภาพรวมว่าได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันสปป.ลาวเองก็น่ากังวลเนื่องจากค่าเงินได้อ่อนค่าลงมากเช่นกันซึ่งหากเกิดปัญหาซ้ำรอยเมียนมาอาจกระทบการค้าชายแดนระหว่างไทยได้เช่นกัน

ด้านค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบสหรัฐฯอ่อนค่าลงเฉลี่ย 7% จากต้นปีแต่ไม่น่ากังวลเมื่อเทียบกับหลายประเทศเพราะเงินสำรองของไทยยังคงสูงแต่ยอมรับว่าปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงอาจส่งผลให้ธนาคารกลาง(เฟด)ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงอีกครั้งในเร็วๆ นี้เป็น 0.75-1% ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าและบาทจะอ่อนค่ายิ่งขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายการเงิน(กนง.) ต้องพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินบาทส่วนจะปรับอย่างไรคงอยู่ที่การตัดสินใจกนง. แต่ส.อ.ท.เห็นว่าต้องมองให้เกิดสมดุลระหว่างการนำเข้าและส่งออก

“ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย.ปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนเพราะเปิดประเทศรับท่องเที่ยวดังนั้นหากบริหารท่องเที่ยวให้ดีจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยชดเชยส่งออกครึ่งปีหลังที่อาจจะชะลอตัวลงไปบ้างก็ตาม”นายเกรียงไกร กล่าว
สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.7 ในเดือนพ.ค. โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทเอกชนที่นำพนักงานไปท่องเที่ยวในเมืองรองและเมืองหลัก เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 คาดว่าจะช่วยหนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

นายเกรียงไกล กล่าวว่า ดัชนีฯเชื่อมั่นในเดือนมิ.ย.ส่งผลให้ปัจจัยการเมืองเริ่มกังวลมากขึ้น เพราะขณะนั้นกำลังเข้าสู่การจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยยอมรับว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในขณะนี้ไม่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้ แต่ปัจจัยการเมืองเป็นประเด็นที่เอกชนจะกังวลมากขึ้นเพราะกำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งซึ่งหากการเมืองไทยมีเสถียรภาพก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการค้าและการลงทุน และภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงย่อมทำให้การเมืองโลกมีผลต่อไทยเช่นกัน

เพิ่มเพื่อน