กกพ. เครียดหาสูตรขึ้นค่าไฟ กาง 3 แนวทางขึ้นเฉลี่ย 4-5 บาทต่อหน่วย

กกพ.เร่งทบทวนแนวทางปรับเพิ่มค่าเอฟที งวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 หลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 แนวทาง หวังลดภาระการแบกรับต้นทุนของ กฟผ. ที่เกือบทะลุแสนล้านบาท

20 ก.ค. 2565 – นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวน และปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 หลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. – 25 ก.ค. 2565 เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่เป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณาค่าเอฟทีมีความผันผวน เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และรุนแรง จึงได้จัดทำกรณีศึกษา 3 แนวทาง เพื่อรับฟังความเห็น และนำข้อสรุปให้บอร์ด กกพ. พิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย คาดว่าจะมีการประชุมบอร์ดวันที่ 27 ก.ค. นี้ และประกาศค่าเอฟทีงวดใหม่อย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือน ก.ค.หรือต้นเดือน ส.ค.นี้

ทั้งนี้เหตุผลที่ค่าเอฟทีงวดใหม่มีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ยังมีแนวโน้มราคาแพงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยราคา LNG นำเข้าตอนนี้พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนพุ่งสูงแตะระดับ 30 กว่าเหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูแล้ว จากเดิมอยู่ที่ 20 กว่าเหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู รวมถึงภาระต้นทุนจากการอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม

นอกจากนี้ ภาครัฐได้มีนโยบายให้กาฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เดินเครื่องด้วยน้ำมันอย่างเต็มความสามารถเพื่อช่วยลดปริมาณนำเข้าLNG จากตลาดจร(Spot) ที่มีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันในการผลิตไฟฟ้า ร่วมกับการนำมาตรการทยอยปรับค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้ใช้ไฟฟ้าในรอบเดือนม.ค. – เม.ย. 2565 ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าค่าเอฟทีที่ กกพ.อนุมัติให้ 2 การไฟฟ้า นำไปเรียกเก็บค่าไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ส่วนด้าน กฟผ. ยังคงแบกรับภาระค่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดเดือนก.ย. 2564 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับ 3 กรณีเพื่อรับฟังความเห็น ก่อนที่จะนำข้อสรุปให้บอร์ด กกพ.พิจารณา กรณีศึกษาที่ 1 ค่าเอฟทีขายปลีก ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 จำนวน 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยเรียกเก็บเงินเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมาบางส่วนจำนวน 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ให้กับ กฟผ. เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดยมีค่าเอฟทีเท่ากับ 139.13 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.17 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 28% โดย กฟผ.จะมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ต้องบริหารจัดการแทนประชาชนจำนวน 56,581 ล้านบาท

กรณีศึกษาที่ 2 ค่าเอฟทีขายปลีก ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 จำนวน 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยเรียกเก็บเงินเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมาบางส่วนจำนวน 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ให้กับ กฟผ. เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดยมีค่าเอฟทีเท่ากับ 116.28 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 23% โดย กฟผ. จะมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ต้องบริหารจัดการแทนประชาชนจำนวน 69,796 ล้านบาท

และกรณีศึกษาที่ 3 ค่าเอฟทีขายปลีก ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 เท่ากับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17% โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่แทนประชาชนจำนวน 83,010 ล้านบาท

ส่วนข้อเสนอของ กฟผ. ค่าเอฟทีขายปลีก เดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 เท่ากับ 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.12 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 53% โดยจะทำให้กฟผ. ได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่แทนประชาชนทั้งหมดจำนวน 83,010 ล้านบาท คืนภายในเดือน ธ.ค. 2565 ซึ่งการพิจารณาต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง ผลกระทบค่าใช้จ่ายของประชาชน และความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในระยะยาวมาประกอบด้วย เพราะปัจจุบันนี้ กฟผ.ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเกือบแสนล้านบาทแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พีระพันธุ์' เตรียมขยายเวลาตรึงค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย ถึงสิ้นปี 67

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงมาตรการดูแลราคาพลังงานให้ประชาชน หลัง

'พีระพันธุ์' แถลง ครม.เคาะต่อเวลาตรึงค่าไฟ 4.18 บาท ดีเซล 33 บาทต่อลิตร

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน แถลงที่ประชุม ครม. มีมติต่อระยะเวลาตรึงราคา 4.18 บาทต่อหน่วยไปอีก 4 เดือน (กันยายน-ธันวาคม) รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนอยู่ที่ 3.99