ล่องใต้แลอารยธรรม ชมแหล่งท่องเที่ยววิถีลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

18 ก.ค. 2565 – “สงขลา” เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งทางภาคใต้ ที่ยังมีกลิ่นอายความรุ่งเรืองในอดีตของการเป็นเมืองท่าสำคัญบนแหลมมลายู หรือคาบสมุทรสทิงพระ ที่มีความหลากหลายของวัฒนธรรมผสมผสานกันอย่างลงตัว ทำให้ “สงขลา” เป็นเมืองที่มีเสน่ห์มากอีกเมืองหนึ่ง และได้รับคัดเลือกให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในฐานะที่กำกับดูแล จึงได้มุ่งพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

โดย นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. ระบุว่า พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีการดำเนินการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ขาดการจัดการในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว อพท.ได้เข้ามาพัฒนาด้วยวิธีบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อดึง “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เป็นแกนหลักในการพัฒนาพื้นที่นับตั้งแต่ทะเลสาบตอนบนซึ่งเป็นจุดกำเนิดแหล่งน้ำจืดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ไหลมารวมกันเป็นทะเลน้อย ตอนบนของจังหวัดพัทลุง ทำให้เป็นแหล่ง 3 น้ำในทะเลสาบตอนใน มีพื้นที่ราบเหมาะต่อการทำการเกษตร และไหลมาบรรจบกันที่ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จังหวัดสงขลา จึงเป็นทะเลสาบแบบลากูนขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ประกอบกับความโดดเด่นด้านฐานทุนวัฒนธรรมจากการเคลื่อนย้ายของคนหลายสัญชาติ จึงนำมาสู่การพัฒนาภายใต้ธีม “โหนด-นา-เล”

สำหรับ แนวคิดโหนด-นา-เลนั้น มีความหมายคือ “โหนด” มาจากคำว่า ตาลโตนด ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญ “นา” คือ ฐานสำคัญทางความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยเป็นพื้นที่ลุ่มจึงมีการทำนา และมีข้าวพันธุ์ดีคือข้าวสังข์หยดที่มีชื่อเสียง โดยข้าวสังข์หยดซึ่งได้ถูกพัฒนาขึ้นจากข้าวพื้นเมืองที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ส่วน “เล” แหล่งทรัพยากรทางน้ำ อาหาร เส้นทางการค้าที่ทำให้ผู้คนมั่งคั่งและมีชีวิตชีวา ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของความอุดมสมบูรณ์ที่ขับเคลื่อน 15 อำเภอใน 3 จังหวัด สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ให้มีความเจริญมาอย่างยาวนาน โหนด-นา-เล-จึงสะท้อนวิถีดั้งเดิมที่ยังคงรากวัฒนธรรมเดิมๆ

นาวาอากาศเอกอธิคุณ กล่าวว่า เส้นทางการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนนั้น ได้แบ่งออกเป็น 5 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา, เส้นทางท่องเที่ยววิถีโหนด-นา-เล, เส้นทางท่องเที่ยววิถีชีวิตทะเลสาบสงขลา, เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด และเส้นทางท่องเที่ยวโนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมโลก

โดยเริ่มตั้งแต่เดินชมเมืองเก่าสงขลา ศูนย์กลางของการกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงไปยังพื้นที่เป้าหมายและชุมชนอื่นๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ จุดแรกเริ่มกันที่ ศาลหลักเมืองสงขลา ศูนย์รวมใจของชาวสงขลาที่มีอายุกว่า 200 ปี จากนั้นก็สัมผัส สตรีทอาร์ต ซึมซับบรรยากาศความเป็นเมืองเก่า วัฒนธรรม วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนผ่านภาพวาดที่ปรากฏอยู่ตามอาคารต่างๆ บนถนน 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม

และที่พลาดไม่ได้คือ บ้านนครใน บ้านโบราณอายุกว่า 100 ปี ที่สร้างโดยสถาปัตยกรรมแบบจีนดั้งเดิม และอาคารสีขาวสร้างใหม่สไตล์ยูโรเปียน ที่ถูกแปลงสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองในอดีต โรงสีแดง (หับ โห้ หิ้น) โรงสีข้าวเก่าแก่ที่มีอายุร่วม 100 ปี และป้อมหมายเลข 9 หรือป้อมโบราณ เมืองสิงขระ โบราณสถานสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 13 ป้อมที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญกระจายไปทั่วเมืองสงขลา

จากนั้นเดินทางไปองค์การบริหารส่วนตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ เพื่อขึ้นเรือชมเกาะ พื้นที่วัฒนธรรมลุ่มน้ำสงขลา ไม่ว่าจะเป็น เกาะคำเหลียง แหล่งท่องเที่ยวใหม่เชิงธรรมชาติ, หมู่เกาะสี่เกาะห้า (เขตพัทลุง) หรือเรียกว่า เกาะรังนก แหล่งรังนกคุณภาพที่ได้รับการกล่าวขานในระดับโลก, เกาะกระ พื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางวัฒนธรรม ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนสร้างพระพุทธรูป หลวงปู่ทวด เจ้าแม่กวนอิม สระน้ำกระจก สะพาน 12 นักษัตร ฯลฯ และเที่ยวชุมชน “ชมดาว ลานยอ” ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เหมาะกับผู้ชื่นชอบธรรมชาติและสายแคมปิ้ง และเป็นแหล่งธนาคารสัตว์น้ำ

และเมื่อมาสงขลาต้องไม่พลาดกับ ตามรอยหลวงปู่ทวด เกจิอาจารย์ชื่อดังแดนใต้ ชมต้นเลียบที่มีอายุกว่า 400 ปี วัดขนาดเส้นรอบวงได้ 19.5 เมตร และมีความสูง 28.50 เมตร แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาและความร่มรื่นอยู่ภายในวัดต้นเลียบ ควบคู่ไปกับเจดีย์ที่ฝังรกของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด จึงถือกันว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านจึงเชื่อว่ามีเทวดาคุ้มครองดูแล นับเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านมาช้านาน

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวดอีกด้วย ภายในวัดมีการสร้างรูปเหมือนองค์หลวงปู่ทวดด้วยขี้ผึ้ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่ศรัทธาในองค์หลวงปู่ทวดได้มาบูชากราบไหว้ขอพร และได้จัดแสดงประวัติความเป็นมาขององค์หลวงปู่ทวด อีกทั้งบริเวณใกล้เคียงยังมีวิหารเรือนไทย ทวดหู ทวดจันทร์ โยมพ่อ โยมแม่ของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด นอกจากนั้นยังมีวิหารประดิษฐานพระพุทธชินราชอีกด้วย วัดต้นเลียบเปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติที่เลื่อมใส่ในองค์หลวงปู่ทวดได้มากราบไหว้บูชาทุกวัน

จากนั้นก็ กราบสักการะรูปปั้นหลวงปู่ทวดอันศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพะโคะ หรือวัดราช ตั้งอยู่บนเขาพะโคะ หรือเขาพัทธสิงค์ หมู่ที่ 6 ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นวัดจำพรรษาของสมเด็จพะโคะ หรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา เป็นที่ประดิษฐานพระเมาลักเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมทางใต้สมัยกรุงศรีอยุธยา แบบอย่างศิลปะลังกา และเกี่ยวข้องกับตำนานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด มีตำนานเกี่ยวกับหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดเล่ากันว่า วันหนึ่งมีโจรสลัดแล่นเรือเลียบมาตามฝั่ง เห็นสมเด็จพะโคะเดินอยู่ มีลักษณะแปลกกว่าคนทั้งหลายจึงใคร่จะลองดี โจรสลัดจอดเรือและจับสมเด็จพะโคะไป เมื่อเรือแล่นมาได้สักครู่เกิดเหตุเรือแล่นต่อไปไม่ได้ ต้องจอดอยู่หลายวัน จนในที่สุดน้ำจืดหมดลงโจรสลัดเดือดร้อน สมเด็จพะโคะสงสารจึงเอาเท้าซ้ายแช่ลงไปในน้ำทะเลเกิดเป็นประกายโชติช่วง น้ำทะเลกลายเป็นน้ำจืด โจรสลัดเกิดความเลื่อมใสศรัทธากราบไหว้ขอขมา และพาสมเด็จพะโคะขึ้นฝั่ง ตั้งแต่นั้นมาประชาชนจึงพากันไปกราบไหว้บูชากันเป็นจำนวนมาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มองภาพสะท้อนการออกแบบ เมือง‘ไต้หวัน’ผ่าน‘ไทจง-ไทเป’

“ไต้หวัน” หนึ่งในจุดมุ่งหมายที่ใครหลายคนอยากมาสัมผัส เพราะเป็นประเทศที่เหมาะกับการท่องเที่ยว ผู้คนเป็นมิตร มีวินัย เดินทางง่าย อากาศกำลังสบาย สะดวก ปลอดภัย

สรรพสามิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ชู “แพร่โมเดล” ต้นแบบ โครงการ1ชุมชน1สรรพสามิตแชมเปี้ยน

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและยกระดับสินค้าชุมชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “สุราชุมชน หรือสุราพื้นบ้าน” ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้านเพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้ได้มาตรฐาน

TSBถอดโมเดลระบบคมนาคม 'ไต้หวัน’ ปรับใช้กับ HOP Card ต่อยอดเพิ่มระบบชำระค่าสินค้า-บริการ

‘ไต้หวัน’ เมืองใหม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยว หนึ่งในประเทศที่มีลักษณะโครงสร้างการคมนาคมขนส่งใกล้เคียงกับประเทศไทย ที่ในปัจจุบันก็มีการพัฒนาระบบรุดหน้าเป็นอย่างมาก

จับเรือประมงเวียดนาม รุกล้ำน่านน้ำไทย ตั้ง 3 ข้อหาหนัก

พลเรือโท พิจิตต ศรีรุ่งเรือง ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ได้สั่งการให้เรือหลวงสัตหีบ ลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ โดยเวลา 11.15 น. วันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา เรือหลวงสัตหีบ ตรวจพบเรือประมงสัญชาติเวียดนาม

‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’หวังกระทรวงอุตฯเป็นที่พึ่งของทุกคนอย่างแท้จริง

การเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวงต่างๆ ในประเทศไทยนั้นต้องผ่านด้านการบริหารงานมาเข้มข้น และยังต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์อย่างจริงจัง

อึ้ง! ขายน้ำมันเถื่อนกลางเมือง เย้ยกฎหมาย

หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวการขายน้ำมันเถื่อนอย่างเปิดเผยเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาในพื้นที่ อ.สะเดา โดยขายน้ำมันเถื่อนริมถนนกลางเมืองสะเดา