‘ธอส.' การันตีขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบลูกค้าแจงไม่มีอัพค่างวด

‘ธอส.’ การันตีขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบลูกค้า ลุยอุ้มยกพอร์ต 1.4 ล้านล้านบาท ระบุยังคิดค่างวดเท่าเดิม พร้อมชงเพิ่มวงเงินโครงการบ้านล้านหลัง เฟส 2 อีก 2 หมื่นล้านบาท หวังช่วยลูกหนี้ดอกเบี้ยคงที่รอบสุดท้าย อ้อนคลังขอขยายเวลาลดเงินสำส่งกองทุนแบงก์รัฐเหลือ 0.125% ต่อไปอีก 1 ปี

15 ก.ค. 2565 – นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า คาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ส.ค. นี้ จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อย่างน้อย 0.25% ต่อปี โดย ธอส. มีนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ และจะมีการปรับดอกเบี้ยธนาคารครั้งแรกในเดือน ต.ค. 2565 ในอัตราไม่เกิน 0.15% ต่อปี เพียงครั้งเดียวของปีนี้ และอาจจะไปปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาส 1/2566 โดยการที่ ธอส.ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยทันที เป็นภาระของธนาคารที่เพิ่มขึ้นจากการตรึงดอกเบี้ยในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปี ที่ราว 1 พันล้านบาท แต่ยังอยู่ในบริบทที่ธนาคารยังรับได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในเดือน ต.ค.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.15% แต่ ธอส.ยืนยันว่า ลูกค้าของทั้งหมดในพอร์ตราว 1.4 ล้านล้านบาท จะไม่ได้ผลกระทบแม้แต่รายเดียว และในกรณีที่ กนง.ปรับดอกเบี้ยขึ้นไปถึง 0.50% ต่อปี จะส่งผลกระทบต่อลูกค้าราว 100 รายเท่านั้น โดยดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ถ้าเงินงวดยังเพียงพอชำระเงินต้น ก็ไม่ได้รับผลกระทบ ลูกค้ายังจ่ายค่างวดได้เท่าเดิม เพียงแต่ตัดเงินต้นลดลง แต่อาจจะต้องมีการปรับเงินงวดยาวขึ้น

“ลูกค้าปัจจุบันที่ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ และกลุ่มที่ใช้ดอกเบี้ยลอยตัวแล้ว เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของการปรับตัว แต่ในกลุ่มที่อยู่ในช่วงรอยต่อจากอัตราดอกเบี้ยคงที่เปลี่ยนไปลอยตัว กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ Payment Shock ซึ่งขณะนี้ ธอส.เข้าไปดูสัญญาลูกค้า และจะเริ่มทยอยส่งหนังสือไปถึงลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวแล้ว” นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา สินเชื่อประเภทดอกเบี้ยคงที่ ได้ยุติไปหมดแล้ว เหลือวงเงินโครงการบ้านล้านหลัง เฟส 2 อีกราว 4 พันล้านบาท ซึ่งยังเป็นดอกเบี้ยคงที่ 1.99% คาดว่าจะได้รับความสนใจจากลูกค้ามาก ในช่วงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการลดผลกระทบดังกล่าว ภายในเดือน ส.ค. นี้ จะเสนอให้คณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) พิจารณาเพิ่มวงเงินอีก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเสนอกระทรวงการคลัง และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้คงที่ 1.99% ส่วนจะคงที่เท่าใด ขึ้นอยู่กับ ครม. จะพิจารณาชดเชยส่วนต่างในอัตราเท่าใด

นอกจากนี้ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เตรียมส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอขยายเวลาการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ของแบงก์รัฐทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์ จาก 0.25% เหลือ 0.125% ที่จะสิ้นสุดในสิ้นปี 2565 โดยขอขยายออกไปอีก 1 ปี หรือ สิ้นสุดปี 2566 เพื่อไม่ให้มีต้นทุนดังกล่าว ซ้ำเติมลูกค้าในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ไม่เช่นนั้นจะมีผลต่ออัตราการผ่อนที่จะได้รับผลกระทบจากการไม่ขยายการลดเงินนำส่ง

เพิ่มเพื่อน