จับมือ‘ทล.-ทช.-กทพ.’บูรณาการพัฒนานวัตกรรม โครงข่ายทางถนน ประเดิม 5 โปรเจ็กต์ มูลค่ารวม 2.33 แสนล้าน ลุยทบทวนมูลค่าการก่อสร้าง ก่อนเร่งเครื่องเต็มสูบ พร้อมเตรียมจัดตั้งกองทุน TFF มูลค่าหลายแสนล้าน เดินหน้าโครงการฯ หวังลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพ–ความรวดเร็วในการทำงาน
12 ก.ค.2565 – นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและโครงข่ายทางถนนร่วมกันระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) โดยนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล., กรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยนายสมชาย ลีลาประภาภรณ์ รองอธิบดี ทช. และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ร่วมลงนามวันนี้ (11 ก.ค. 2565) ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน)
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว จะให้ความร่วมมือในการวางแผน การศึกษา และออกแบบโครงการ พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุน เรียนรู้ และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เช่น การบริหารจัดการแบบ Single Command เพื่อให้เกิดการสั่งการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงข้อมูลการจราจรเพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการจราจรในโครงข่ายคมนาคมทางถนนของประเทศ
สำหรับโครงข่ายที่จะบูรณาการการพัฒนาโครงการร่วมกัน มี 5 โครงการ รวมมูลค่า 233,799 ล้านบาท จากทั้งหมดประมาณ 19 โครงการ ได้แก่
1.โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่–เกาะแก้ว–กะทู้ จ.ภูเก็ต ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าลงทุนโครงการ 30,456 ล้านบาท ซึ่งเดิมกรมทางหลวง (ทล.) ได้เคยศึกษาออกแบบเป็นทางหลวงแนวใหม่สายเมืองใหม่–เกาะแก้วนั้น มอบให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการเป็นรูปแบบทางพิเศษเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้–ป่าตอง
2.โครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 305 (ปทุมธานี–รังสิต–องครักษ์) วงเงิน 38,557 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 20 กม. ที่ ทล. ได้ศึกษาออกแบบไว้ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการเป็นโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา–ปทุมธานี
3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายทางยกระดับศรีนครินทร์–ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 43,186 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 18 กม. ที่ ทล. ได้ศึกษาออกแบบไว้ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการเป็นทางพิเศษ โดยให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4.โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วงจังหวัดสมุทรสาคร–สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ) วงเงิน 96,600 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 72 กม. ที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ศึกษาและออกแบบไว้นั้น รวมทั้งได้เสนอรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการและเตรียมนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ มอบให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยบูรณาการร่วมกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร(กทม.) รอบที่ 3 ด้านใต้ และให้ ทช. เป็นผู้ดำเนินโครงการถนนโครงข่ายรองที่เชื่อมต่อช่วงถนนจาก ทล.3 บรรจบทล.34 ระยะทางประมาณ 16 กม.
5.โครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย จาก อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ไปยัง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช วงเงิน 25,000 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 17 กม. ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า การบูรณาการพัฒนาโครงการร่วมกัน ระหว่าง ทล., ทช. จำนวน 5 โครงการ โดยให้กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการนั้น จะทำให้โครงการต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม“สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย” โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ภาครัฐจะต้องนำงบประมาณไปดำเนินการป้องกัน และฟื้นฟูสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งหาก กทพ. เป็นผู้ดำเนินการจะมีความคุ้มค่าในการลงทุน สามารถหารายได้เชิงพาณิชย์ นอกเหนือจากการเก็บค่าผ่านทางได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน เพราะเส้นทางมอเตอร์เวย์ หาก ทล.เป็นผู้ดำเนินการ ก็จะมีการเก็บค่าผ่านทางอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การดำเนินการของ กทพ. สามารถนำงบประมาณมาจากการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund: TFF) ซึ่งจะมีการจัดตั้งกองทุนในแต่ละโครงการ รวมมูลค่าหลายแสนล้านบาท โดยได้มอบนโยบายให้ไปพิจารณาจัดลำดับความสำคัญ และความเป็นไปได้ของโครงการฯ พร้อมทั้งนำต้นแบบการหารายได้เชิงพาณิชย์ อาทิ จุดจอดพักรถ, คอมมูนิตี้มอลล์ โดยนำต้นแบบจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะมีการไปทบทวนมูลค่าการก่อสร้าง ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้ มอบหมายให้พิจารณาคงามร่วมมือระหว่าง ทล., ทช. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ด้วย
สำหรับการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมและโครงข่ายทางถนนร่วมกันระหว่าง ทล. ทช. และ กทพ. ในครั้งนี้ เป็นมิติใหม่ในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดำเนินงาน สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มากยิ่งขึ้นนับเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางถนนของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ขยายสัมปทานโทลล์เวย์ แต่จะขยายสัมปทานทางด่วน
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ไม่ขยายสัมปทานโทลล์เวย์ แต่จะขยายสัมปทานทางด่วน" ระบุว่าเดิมมีข่าวว่ารัฐจะขยายสัมปทานให้ทั้งดอนเมืองโทลล์เวย์และ
กทพ.ผุดทางด่วนริเวียร่า 'สมุทรสาคร-สมุทรปราการ' มูลค่าแสนล้าน
“กทพ.” กางแผนลุ้นปี 69-70 ศึกษาสร้าง “ทางด่วนริเวียร่าสมุทรสาคร-สมุทรปราการ” วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท ยาว 71 กม. เล็งตอกเสาเข็มแบ่งเป็นเฟส รับแผนแม่บท MR-MAP เชื่อมมอเตอร์เวย์ หนุนระบบราง
'ภูมิใจไทย' เฮส่อรอดยุบพรรค
ภูมิใจไทย เตรียมเฮ ส่อรอดยุบพรรค "แสวง" ชี้ คดีศักดิ์สยาม ไม่เป็นเหตุยุบพรรค ซ้ำคำวินิจฉัยศาลฎีกา "ทำงานให้หลวงต้องได้เงิน" คาดจบใน 1 เดือน ส่วนเรื่อง "ฮั้ว" ต้องแยกคดี พ้อแค่เป็นคนบุรีรัมย์ถูกด่าฟรี 1 ปี เผยสั่งยุติคดียุบ "พปชร." หลังพิสูจน์ไม่ได้ว่า "เงินบริจาคตู้ห่าว" เป็นเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย
‘สามารถ’ ชำแหละ ‘ลดค่าผ่านทาง’ แลก ‘ขยายสัมปทาน’ ใครได้ประโยชน์ ?
ใกล้ถึงเวลาจะขึ้นค่าผ่านทางไม่ว่าจะเป็นทางด่วนหรือดอนเมืองโทลล์เวย์คราใด ภาครัฐมักจะเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานให้ชะลอการขึ้นค่าผ่านทาง เพื่อลดภาระค่าครองชีพของผู้ใช้บริการ