เอกชนห่วงบาทอ่อนค่าเกิน หวั่นแตะ 37 บาทต่อเหรียญฯ หวัง ธปท. ดูแลใกล้ชิด

เอกชนจับตาค่าเงินบาทอ่อน หวั่นแนวโน้มอ่อนค่าต่อแตะ 37 บาทต่อเหรียญฯได้ วอน”ธปท.”ดูแล ชี้เหตุบาทอ่อนมีทั้งบวกและลบหวังบริหารให้สมดุลนำเข้า ส่งออก และเงินเฟ้อ ไม่ให้ผันผวน

8 ก.ค.2565 -นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยปิดตลาดเมื่อ 6 ก.ค. แตะระดับ 36.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีโดยคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทของไทยอาจจะอ่อนค่าแตะระดับ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ตามการไหลออกของเงินทุนต่างชาติหลังเงินสหรัฐและหยวนแข็งค่าขึ้น ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คงต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเห็นว่าการบริหารจัดการจำเป็นต้องวางสมดุลระหว่างการนำเข้า การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญเพื่อดูแลเศรษฐกิจภาพรวม โดยค่าเงินบาทไม่ควรผันผวนเร็วเกินไปและต้องสะท้อนภูมิภาค

ทั้งนี้แม้ว่าบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในรูปเงินบาทที่จะปรับสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องมองในแง่ของการนำเข้าสินค้าทุนทั้งวัตถุดิบต่างๆ รวมราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดิบที่ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้ากว่า 90% เหล่านี้จะสะท้อนไปยังการผลิตให้มีต้นทุนภาพรวมที่เพิ่มขึ้นได้ซึ่งจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยให้สูงขึ้นตามท่ามกลางรายได้ประชาชนปัจจุบันก็ไม่พอรายจ่ายจึงอาจไม่ได้เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมเพราะจะยิ่งทำให้แรงซื้อประชาชนถดถอย

“บาทอ่อนดีในแง่การส่งออกเพราะแม้ว่าภาคส่งออกส่วนหนึ่งที่มีการนำเข้าวัตถุดิบมาแปรรูปแล้วส่งออกไปเป็นเงินเหรียญฯแปลงกลับเงินบาทก็ไม่กระทบ แต่หากการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตแล้วพึ่งพิงตลาดในประเทศมากน้อยก็อาจต่างกันไปอันนี้จะลำบากต้นทุนจะสูงขึ้นมากและจะถูกส่งผ่านไปยังราคาสินค้าปรับตัวเพิ่ม แต่ในแง่ของภาคเกษตรไทยและการท่องเที่ยวจะส่งผลดี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวหากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยราว 7-10 ล้านคนในปีนี้ก็จะทำให้มีความต้องการเงินบาทเพิ่มขึ้นจุดนี้ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบการอ่อนค่าลงได้บ้าง”นายเกรียงไกรกล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่าลง ตั้งแต่ต้นปี 2565 เทียบกับปัจจุบันพบว่าอ่อนค่าไปถึง 7.66% หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยเราอ่อนค่ามากกว่าและเห็นว่าระดับดังกล่าวค่อนข้างจะอ่อนค่าเร็วไปหน่อย

“ผมมองว่าค่าเงินบาทของไทยที่เหมาะสมนั้นอย่าเกิน 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาพรวมเศรษฐกิจจากการดูแนวโน้มในช่วงที่ผ่านมาที่บาทอยู่ระดับ 33.5-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐการส่งออกของไทยค่อนข้างดี แต่พอขยับสูงขึ้นจะเห็นว่าเกิดการขาดดุลการค้าเพราะไทยต้องควักจ่ายการนำเข้าน้ำมันสูง อย่างไรก็ตามธปท. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเร็วๆ นี้เพื่อป้องกันเงินไหลออกแต่คงไม่มากเพราะบริบทของไทยและสหรัฐฯต่างกัน ”นายธนิต กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"