๑๑๑ ปีลูกเสือไทยทำไมชุดลูกเสือ กิจการลูกเสือ จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเยาวชน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชบันทึกและพระราชทานให้แก่เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ, ๒๔๕๓ ไว้ความตอนหนึ่งว่า

“I do not want a walking school book. What I want are just manly young men, honest, truthful, clean in habits and thoughts.”

 “ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน ‘ชั้นมัธยม’ ให้เป็นเทวดาเหมือนกันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนน เท่ากับสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี”

(พระราชบันทึกเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยโดย ม.ล. ปิ่น มาลากุล) ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการก่อเกิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวชิราวุธวิทยาลัย

โดยกาลต่อมานั้น พระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๖๔ โดยมีลูกเสือคนแรกชื่อ นายชัพน์ บุนนาค (เสวกตรีนายลิขิตสารสนอง) นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในขณะนั้นจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา ๑๑๑ ปีของกิจการลูกเสือไทยพอดี โดยแต่ก่อนนั้น การเรียนลูกเสือไม่ได้เป็นภาคบังคับในระบบการศึกษา เป็นเรื่องของจิตอาสา ใครจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ แต่นักเรียนมหาดเล็กหลวงในสมัยนั้นก็เป็นลูกเสือกันเกือบทุกคน 

จวบจนมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ ๓) หลักสูตรและวิชาพิเศษ พ.ศ. ๒๕๐๙ การเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือ เดิมเป็นกิจกรรมเลือก ต่อมาได้แก้ไขเป็นกิจกรรมบังคับ และได้มีการแก้ไขอีกครั้งเป็นวิชาบังคับเรียน แต่เมื่อประเมินผลแล้วเห็นว่าไม่ประสบผลสำเร็จ จึงแก้ไขเป็นกิจกรรมบังคับเลือก จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๔ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้กำหนดให้สถานศึกษาใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นไป โดยกำหนดให้กิจกรรมลูกเสือ ยุวกาชาด และผู้บำเพ็ญประโยชน์ อยู่ในกลุ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 

จะเห็นได้ว่ากิจการลูกเสือนั้นไม่ได้เป็นวิชาบังคับเรียนแต่เป็นวิชาบังคับเลือกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ แต่เป็นวิชาที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการพัฒนาเด็กและเยาวชน เป็นวิชาที่โรงเรียนเกือบทุกโรงเรียนในประเทศไทยยอมรับและบรรจุหลักสูตรวิชาการลูกเสือในวิชาเรียน ถือว่าเป็นนโยบายสาธารธณะที่เป็นทางเลือกทางการศึกษาที่ดี ที่ได้ให้แนวคิดไว้ว่า “การพัฒนาลูกเสือนั้น เป็นการพัฒนาเยาวชนทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจและศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ ช่วยสร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อความสงบสุข และความมั่นคงของประเทศชาติ”

เรียนลูกเสือแล้วได้อะไร….เป็นคำถามของสังคมปัจจุบันที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะจะเห็นจากกระแสการต่อต้านการเรียนลูกเสือมีมากขึ้นในช่วงหลังมานี้ มีความเห็นต่างๆนาๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวว่าไร้สาระ โบราณ เปลืองค่าใช้จ่ายเรื่องเสื้อผ้าและวัสดุอุปกรณ์ เสียเวลา เรียนไปไม่ได้ประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆที่มีผู้กล่าวมานั้นเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้เห็นคุณค่าของการเรียนลูกเสืออย่างถ่องแท้ว่า วิชาลูกเสือนั้นเป็นวิชาที่ใช้สำหรับการปลูกจิตสำนึกของเยาวชนต่อความรักชาติ มีระเบียบวินัย มีความสามัคคี ซื่อสัตย์สุจริต รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงการเอาตัวรอดในยามจำเป็น และมีส่วนช่วยในเรื่องความมั่นคงของชาติได้ โดยที่ผู้เรียนอาจจะไม่รู้ตัว 

แล้วทำไมกิจการลูกเสือถึงถูกมองว่า…น่าเบื่อ…ก็ย่อมมีเหตุและปัจจัยสำคัญอยู่ที่ผู้สอนลูกเสือ ครูที่ไม่เข้าใจในกระบวนการของลูกเสืออย่างถ่องแท้แล้ว ย่อมไม่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณของความเป็นลูกเสือออกไปได้ คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสอนเด็กว่า เจ้าต้องมีระเบียบวินัยนะ เจ้าต้องรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์นะ เจ้าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตนะ เจ้าต้องรู้รักสามัคคีนะ เจ้าต้องช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อนะ แต่ในวิชาลูกเสือ สิ่งต่างๆเหล่านั้นจะถูกซึมซับลงไปในสมองและจิตใต้สำนึกของเด็กเองโดยธรรมชาติ หากการสอนนั้นมีประสิทธิภาพ สนุกสนาน มีวิธีการที่ถูกต้อง แต่ที่ผ่านมา เรื่องการเรียนการสอนวิชาลูกเสืออาจจะไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ประกอบกับครูผู้สอนบางคนไม่เข้าใจและไม่ชอบสอนวิชาลูกเสือเสียเอง ทำให้เด็กๆเกิดความเบื่อหน่าย ซึ่งคงจะต้องอาศัยให้ผู้รับผิดชอบช่วยขับเคลื่อนนโยบายทางการศึกษาในเรื่องวิชาลูกเสือให้มากขึ้น

ในทางกลับกัน…ปัจจุบันนี้…มีหลายโรงเรียนที่นำเวลาของวิชาลูกเสือไปทำกิจกรรมอื่น ให้เด็กแต่งชุดลูกเสือแต่ไม่ได้เรียนลูกเสือ จิตวิญญาณความเป็นลูกเสือจึงหายไป กลับบ้านไปก็ไม่ได้ใช้ทักษะทางการลูกเสือช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือมีระเบียบวินัยตามแนวทางที่ควรจะเป็น จึงกลายเป็นปัญหาของกิจการลูกเสือในปัจจุบัน และยังมีการออกประกาศอนุโลมเรื่องการแต่งกายจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองออกมาให้เห็น ซึ่งนั่นคือบ่อเกิดของการทำลายกิจการลูกเสือของไทย และหากกิจการลูกเสือถูกทำลายไป ความเป็นเยาวชนที่ดีของชาติบ้านเมืองย่อมจางหายไปด้วย ยกเว้นว่าทางหน่วยงานออกนโยบายการศึกษา นำวิชาที่มาแทนวิชาลูกเสือได้และดีกว่า ซึ่งก็ต้องมาคอยดูกันว่าจะมีวิชาอะไรที่จะมาแทนวิชาลูกเสือได้

ในคู่มือผู้กำกับลูกเสือ (Aids to Scout Mastership) ซึ่ง Lord Baden Powell of Gilwell ผู้ให้กำเนิดลูกเสือ กล่าวถึงเรื่องการแต่งเครื่องแบบลูกเสือไว้ว่า “ข้าพเจ้าเคยพูดเสมอว่า ข้าพเจ้าไม่วิตกว่า ลูกเสือจะสวมเครื่องแบบหรือไม่ ตราบใดที่จิตใจของลูกเสือจดจ่อต่องานของเขาและปฏิบัติตามกฎของลูกเสือแล้วก็ใช้ได้” แต่ว่าความจริงปรากฏว่า…ไม่มีลูกเสือคนใดไม่สวมเครื่องแบบลูกเสือถ้าสามารถจะซื้อได้     

ในขณะที่นโยบายสาธารณะเรื่องชุดลูกเสือกำลังเป็นที่ถกเถียงกันนั้น หากมีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรต่างๆ ออกมาช่วยกันก็คงจะแก้ปัญหาไปได้ในระยะหนึ่ง แต่ประเด็นสำคัญยิ่งกว่าคือ…จะทำอย่างไรกิจการลูกเสือถึงจะได้กลับมามีความหมายเหมือนเดิม เรียน เล่น สนุกสนานได้เหมือนเดิม และจะอยู่ยั้งยั่งยืนต่อไปได้เหมือนเดิมได้อย่างไร นี่ต่างหากที่เป็นความท้าทายทางนโยบายสาธารณะของรัฐบาล และของผู้ที่รับผิดชอบกิจการลูกเสือที่จะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

แม้ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดอนาคตในหลายบริบทแต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจมีผู้บริหารและ/หรือผู้กำหนดนโยบายได้ละเลยหรือหลงลืมประวัติศาสตร์ของการก่อเกิดกิจการลูกเสือและการใส่ชุดลูกเสือและเนตรนารีในประเทศไทย

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจการลูกเสือไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก กลับมายิ่งใหญ่ให้สมดังพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่พระองค์ท่านได้ทรงวางแนวทางการใช้กิจการลูกเสือเป็นนโยบายสาธารณะและเป็นกุศโลบายในการฝึกฝนและพัฒนาคนในชาติให้มีความรู้จักรักชาติ รักแผ่นดิน รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น สมดังคำปฏิญาณของลูกเสือได้ ก็คงจะต้องด้วยความเอาใจใส่และกำหนดนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันและในอนาคตให้เป็นรูปธรรมในเรื่องของ…การบริการและการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือและกิจการลูกเสือไทยในยุคสังคมปกติใหม่..ต่อไป

 ไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว
 ประธานมูลนิธิเด็กวัด

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Climate School (โรงเรียนเพื่อการรักษาสภาพภูมิอากาศ)

เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนทุกประเทศในโลกต้องหันมาให้การสนับสนุนส่งเสริมนโยบายการรักษาสิ่งแวดล้อม

สำรวจโรงเรียนที่ปัตตานีเปลี่ยนชุด 'ลูกเสือ' ใช้แค่ผ้าผูกคอกับวอกเกิล หลังโซเชียลแห่ชื่นชม

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้มีการออกประกาศจากฝ่ายกิจการนักเรียนว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงชุดวิชาลูกเสือ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ซึ่งจะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่1 ปีการศึกษา 2567 โดยใช้เพียงแค่

ว่าที่ส.ส.สาวก้าวไกล ร่อนจม.เปิดผนึกเรียกร้องผู้บริหาร 30 โรงเรียน ยกเว้นแต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด

นางสาวรักชนก ศรีนอก ว่าที่ ส.ส. กรุงเทพมหานครเขตบางบอน จอมทอง หนองแขม พรรคก้าวไกล ออกจดหมายเปิดผนึก ถึง น ผู้อำนวยกา

การศึกษาชั้นพื้นฐานกับการพัฒนาเยาวชนด้วยกฎ 10 ข้อของลูกเสือ

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ย่อมต้องมีการพัฒนาตนเองตั้งแต่แรกเกิด ส่วนหนึ่งคือพัฒนาจากธรรมชาติ ได้แก่การเรียนรู้ในการหายใจ การเรียกร้องเมื่อท้องหิวหรือเจ็บป่วย

การศึกษาไทยในยุคดิจิทัล ยุคสมัยเปลี่ยนไป...แต่ทำไมระบบการศึกษาไทยยังเหมือนเดิม

คำว่า “การศึกษา” หมายถึง วิธีการส่งผ่านจุดมุ่งหมาย ความรู้ ทักษะ จารีตประเพณีและค่านิยมที่สั่งสมมา ให้ดำรงอยู่จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง 

'ชัชชาติ' ปธ.สวนสนามลูกเสือ กทม. แจงดราม่าเรื่องชุด

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามลูกเสือ กทม. เนื่องในวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ประจำปี 2565