30 มิ.ย. 2565 – นายสันติ ปิยะทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ”KC” เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯ กลับเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง ตั้งแต่ 19 พฤษภาคม นี้ ในหมวดกลุ่มอสังหาฯ และก่อสร้าง และได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี จากนี้ไปบริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ เพื่อแก้ไข
และปรับปรุงจุดที่ยังไม่สมบูรณ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่กลยุทธ์ด้าน Product ในปีนี้เรามีการเพิ่ม Product line ใหม่ ในส่วนที่เป็นเชิงพาณิชย์ ได้แก่ อาคารพาณิชย์ โครงการ เค.ซี.สุวินทวงศ์ 2 เพื่อเติมเต็มหมวดหมู่ของสินค้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
กลยุทธ์ด้าน Process จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ใน 2 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นถึงปัญหาของความล่าช้าที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานจากผลกระทบดังกล่าว และได้นำมาปรับปรุงเป็นกระบวนการ FAST process เพื่อทำให้การทำงานของเรารวดเร็ว และถูกต้องมากยิ่งขึ้น
พร้อมทั้ง กลยุทธ์ด้านต้นทุน เพราะเล็งเห็นถึงปัญหาต้นทุนที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้รวมถึงในอนาคต โดยเฉพาะต้นทุนค่าก่อสร้างที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจอสังหาฯ จึงเน้นในเรื่องของการควบคุมต้นทุนเชิงรุก ได้แก่การทำ VAVE การปรับปรุง Design เพื่อให้งานก่อสร้างรวดเร็วขึ้น และต้นทุนลดลง รวมถึงการพยายามใช้วัสดุร่วมกัน เพื่อให้เกิด Economy of scale ให้ได้มากที่สุด โดยยังรักษาคุณภาพของงานก่อสร้างที่มีมาตรฐานเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์ด้านการตลาด ซึ่งในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือในการค้นหาข้อมูลเป็นหลัก ดังนั้น ในปีนี้ และในอนาคต มีการเพิ่มสัดส่วนการทำการตลาด Online มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และตรงกลุ่มมากขึ้น และสุดท้ายกลยุทธ์ด้านธุรกิจใหม่ จากการที่เราเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ ที่อยู่ในวงการมากกว่า 40 ปี จึงทำให้เห็นถึงปัญหาของลูกค้าในมุมของความต้องการด้านงานบริการ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาธุรกิจที่จะให้บริการด้านงานซ่อมแซม ตกแต่ง ต่อเติม
นายสันติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2565 บริษัทได้ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 300 ล้านบาทเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 2-3 เท่า โดยขณะนี้ เค.ซี. มียอดขายรอรับรู้รายได้ใน 5 โครงการเดิม มูลค่า106 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายคาดว่าจะเติบโตขึ้น 2-3 เท่า แต่เราจำเป็นต้องบริหารความสามารถในการโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้า เนื่องจากสถาบันการเงินยังคงมีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ เนื่องจากลูกค้าที่ซื้อโครงการของ เค.ซี. เป็นอาชีพอิสระ ทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้ บริษัทหาเครื่องมือทางการเงินเริ่มจากให้ฝ่ายขายไปคุยกับลูกค้าก่อนล่วงหน้า 6 เดือน และตรวจประวัติลูกค้าอีก เพื่อป้องกันในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เป็นต้น
สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจของ เค.ซี. จากนี้ได้วางเป้าออกเป็นแนวทางแรก การบริหารที่ดินสะสม(แลนด์แบงก์) ที่มีอยู่ในโครงการเดิมประมาณ 4-5 โครงการ สามารถรองรับการพัฒนาโครงการได้ต่อเนื่องถึง 3 ปีจนปิดโครงการได้ ซึ่งที่ดินแต่ละแปลงในแต่ละโครงการเป็นที่ดินต้นทุนเดิมที่สามารถสร้างโครงการในราคาที่ไม่สูง สามารถตอบสนองต่อความต้องการซื้อของลูกค้าได้ในราคาที่เข้าถึงได้
แนวทางที่สอง เป็นการสร้างโอกาสการเติบโตให้ เค.ซี. กับการศึกษาโมเดลที่จะร่วมกับเจ้าของที่ดินในการร่วมกันพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในระดับพรีเมียม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาอยู่ 3-4 แปลงในการทำโครงการบ้านพรีเมียมในเมือง ราคาขายมีตั้งแต่ 20-50 ล้านบาท แต่ละโครงการจะมีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท คาดว่าปลายปี 65 จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน 1 โครงการ มูลค่าในการพัฒนาโครงการไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท หรืออีกรูปแบบอาจจะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุน แปลงที่ดินมาเป็นค่าหุ้น โดยเจ้าของที่ดินเข้ามาถือหุ้น ซึ่งส่วนนี้ผู้ถือหุ้นเดิมยังคงสัดส่วนเท่าเดิม เป็นต้น
ด้านนางพรภัทร์ รอดโพธิ์ทอง บุญถนอม รองกรรมการผู้จัดการ สายงานสนับสนุนการปฏิบัติการ บริษัทเค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการขยายตลาดของ เค.ซี. ว่า ตลาดอสังหาฯ ในต่างจังหวัดยังมีความน่าสนใจ เพราะผู้คนในต่างจังหวัดก็มีความต้องการที่อยู่อาศัยในรูปแบบของโครงการจัดสรรมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี หรือมีโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐเข้ามาลงทุนอย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังคือ นโยบายของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัด ที่จะมีเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดไม่แพ้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแต่กำลังซื้อของลูกค้าส่วนใหญ่จะต่ำกว่า ดังนั้นการวางแผนโครงการ หรือการเลือก Product จึงต้องวิเคราะห์อย่างรอบคอบ
สำหรับตลาดอสังหาฯ ในปี 2565 มีการพูดถึงกันไปพอสมควรแล้ว ทั้งในแง่บวก เช่น การฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ส่วนปัจจัยลบ หลัก ๆ ก็คือสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์กันไว้ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนอื่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้นตาม รวมไปถึงการขาดแคลนวัตถุดิบในบางตัว ส่งผลให้ราคาอสังหาฯ ต้องปรับตัวสูงขึ้นตาม
ขณะที่กำลังซื้อก็ยังไม่ฟื้นตัวดี เป็นโจทย์ที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ ทุกเจ้าต้องแก้กันต่อไป สำหรับเรื่องภาษีที่ดินที่กลับมาคิดเต็มจำนวนเหมือนเดิม หรือภาษีลาภลอย ที่หากมีการนำมาใช้จริงก็คงจะเป็นการทำให้ต้นทุนที่ดินสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาขายที่ต้องปรับตัวตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราพยายามบริหารต้นทุนในส่วนอื่น ๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินงานของ เค.ซี.ฯ อยู่แล้ว