‘ธปท.'ชี้โควิดทุบกำลังซื้ออ่อนแอ ลุ้นอานิสงส์รัฐคลายล็อก-อัดฉีดเงิน!

“ธปท.” ชี้พิษโควิด-19 ทุบกำลังซื้ออ่อนแอ ทำผู้ประกอบการกังวลเพิ่ม อุปสรรคใหญ่ภาคธุรกิจฟื้นตัว หวังอานิสงส์รัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุม-อัดฉีดเงินกระตุ้นใช้จ่าย หนุนเชื่อมั่นและการบริโภคกระเตื้อง 

2 พ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย ในเดือน ต.ค. 2564 พบว่า ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน แต่เห็นสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยในภาคการผลิตและการค้า จากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้น และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม โดยการปรับลดพื้นที่คุมเข้มและลดเวลาเคอร์ฟิว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมามากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มเม็ดเงินกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ช่วยให้ความเชื่อมั่นและการบริโภคปรับดีขึ้น 

ทั้งนี้ กำลังซื้อที่อ่อนแอยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้ธุรกิจยังไม่กลับสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และผู้ประกอบการกังวลด้านกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ โดยผู้ตอบแบบสำรวจในภาคที่ไม่ใช่การผลิตแสดงความกังวลมากกว่าภาคการผลิตอย่างชัดเจน สอดคล้องกับระดับการฟื้นตัวที่ต่ำกว่า ส่วนหนึ่งจากการที่ต้องพึ่งพิงกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก และเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น รอโปรโมชั่นมากขึ้น สะท้อนกำลังซื้อที่เปราะบาง 

นอกจากนี้ จำนวนและรายได้แรงงานทรงตัวในภาคการผลิต ขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานในภาคที่ไม่ใช่การผลิตปรับลดลงบ้าง สอดคล้องกับสัดสวนการใช้นโยบายสลับกันมาทำงานและลดชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index : RSI) ประจำเดือน ต.ค. 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับดีขึ้นต่อเนื่อง หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการขยายเวลาเปิดให้บริการของธุรกิจ ซึ่งในระยะต่อไปผู้ประกอบการเร่งทำโปรโมชั่นเพิ่มขึ้น เพื่อหวังกระตุ้นยอดขายในช่วงส่งท้ายปี 

สอดคล้องกับแนวโน้มดัชนี RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยในไตรมาส 4/2564 ผู้ประกอบการมีแนวโน้มการทำโปรโมชั่นมากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดขายช่วงเทศกาลท้ายปี และคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมจากภาครัฐ 

ทั้งนี้ ได้มีการประเมินกำลังซื้อของผู้บริโภค พบว่า ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และมีนโยบายเปิดประเทศ แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อที่อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่รอโปรโมชั่นพิเศษจากร้านค้าและแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากขึ้น และผลจากการอั้นซื้อ (Pent-up Demand) มีค่อนข้างจำกัด 

อย่างไรก็ดี ยังได้มีการประเมินแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยพบว่า 43% คาดกิจกรรมในภาคการค้าในช่วงไตรมาส 4/2564 จะขยายตัวได้ไม่เกิน 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ 51% คาดว่าหลังผ่อนคลายมาตรการในเดือน ต.ค. 2564 จะมีแนวโน้มการซื้อเพิ่มขึ้น โดยมีแรงสนับสนุนจากการทำโปรโมชั่นของร้านค้า ควบคู่กับมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ และการแพร่ระบาดที่บรรเทาลง รวมถึงผลของการอั้นซื้อ (Pent-up Demand) และรายได้ที่ทยอยฟื้นตัว 

นอกจากนี้ จากผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการประมาณ 82% จะกลับมาดำเนินธุรกิจปกติหลังผ่อนคลายมาตรการในเดือน ต.ค. 2564 โดยผู้ประกอบการราว 23% ยังมีสภาพคล่องเพียงพอไม่เกิน 6 เดือน 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สินเชื่อรถยนต์เข้ม หนี้ครัวเรือนสูง ฉุดการผลิตงวด ก.ค. 67 ลดลง 16.62%

ส.อ.ท.ชี้สินเชื่อรถยนต์เข้ม หนี้ครัวเรือนสูง กดดันยอดขายในประเทศหดตัว ฉุดการผลิตงวด ก.ค. 67 ลดลง 16.62% พร้อมโดนสงครามซ้ำเติม ตลาดกลุ่มประเทศลูกค้าไม่โต ยอดส่งออกร่วง 22.70%

น่าห่วง! ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาฯตกรูด เหตุประชาชนไม่มีกำลังซื้อ

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ในภาพรวมของไตรมาส 2 ปี 2567

‘อนุสรณ์’ เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้นปี เชื่อหนุนกำลังซื้อ เงินเฟ้อน้อย

เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้นปี หากไม่ปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสม ไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การปรับเพิ่มค่าจ้างจะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อภายในระบบเศรษฐกิจ และ มีแรงกดดันเงินเฟ้อน้อยมาก