นายจ้างรอลุ้นรัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก.ย.นี้ หวังไม่สูงเกินไป

นายจ้างลุ้นรัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก.ย.นี้ หวังความเหมาะสมย้ำเงินเฟ้อไม่ใช่อยู่ในภาวะปกติหากสูงเกินไปหวั่นฉุดเอสเอ็มอีล้ม ดันราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมเผยสัญญาณจ้างงานครึ่งปีหลังทยอยฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวและบริการ

28 มิ.ย. 2565 -นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า คาดว่าคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 นี้โดยภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นแต่ขอให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ ศักยภาพการจ่ายของนายจ้าง เศรษฐกิจโดยรวม ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและประสิทธิภาพแรงงานที่ในแต่ละพื้นที่ย่อมไม่เท่ากัน โดยหากการปรับขึ้นสูงเกินธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)และรายย่อย(ไมโครเอสเอ็มอี)ที่เพิ่งจะฟื้นตัวจะแบกรับต้นทุนต่างๆ ไม่ได้ที่สุดจะไปไม่รอด ขณะเดียวกันค่าแรงที่สูงเกินไปก็ย่อมถูกส่งผ่านไปยังการขึ้นของราคาสินค้าให้กับผู้บริโภค

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะต้องสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อ เช่นปี 2565 หากเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยขยายตัว 7% กรณีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกทม.อยู่ที่ 331 บาทต่อวันจะขึ้นอีกประมาณ 23 บาทต่อวันหรือ 700 บาทต่อเดือนหากมีแรงงาน 100 คนก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 70,000 บาทต่อเดือนจะเห็นว่าอัตราเฉลี่ยหากเพิ่มขึ้น 21-23 บาทต่อวันเอกชนรายใหญ่คงจะไม่มีปัญหาสามารถแบกรับได้ แต่ยังคงต้องมองความสามารถของเอสเอ็มอีและไมโคเอสเอ็มอีด้วยเช่นกันว่าจะรับได้มากน้อยเพียงใด

“ เรากำลังพูดถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เรียกว่า Minimum Wage ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายให้ไม่น้อยกว่ากฏหมายกำหนด ปัจจุบันมี 10 อัตราแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันต่ำสุดวันละ 313 บาทและสูงสุดวันละ 336 บาทที่มีเพียงจังหวัดชลบุรีและจังหวัดภูเก็ตเท่านั้นที่ได้รับ ซึ่งการปรับมีการคาดหวังว่าจะต้องมากพอเลี้ยงดูครอบครัว การผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้เพราะเงินเฟ้อสูงขณะนี้เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่น้ำมัน ราคาวัตถุดิบ สินค้าต่างๆสูงขึ้นและยังคงยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ และไทยเองก็เจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งน้ำมันแพง บาทอ่อน เงินเฟ้อเพิ่ม การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหากมากเกินไปตลาดอาจรับไม่ได้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและแรงงานในที่สุด”นายธนิต กล่าว

สำหรับแนวโน้มการจ้างงาน ครึ่งปีหลังมีสัญญาณการจ้างงานที่จะทยอยฟื้นตัวจากการเปิดท่องเที่ยวเต็มรูปแบบซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้แรงงานที่อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวและบริการทยอยกลับมาสู่ระบบมากขึ้นจากแรงงานในภาคนี้มีราว 3.9 ล้านคนแม้ว่าอาจจะไม่สามารถกลับมาได้ทั้งหมดเพราะคาดว่าการท่องเที่ยวต่างชาติจะมีราว 8-10 ล้านคนซึ่งก็ยังไม่เทียบกับกับอดีตที่ผ่านมาก็ตาม รวมไปถึงในภาคธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่เริ่มกลับมาเช่นกัน เมื่อรวมกับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจะส่งผลให้ปี 2565 การจ้างงานจะสูงกว่าปี 2564 แต่จะมากน้อยเพียงใดยังคงต้องจับตาเศรษฐกิจที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกพอสมควร

นายธนิตกล่าวว่า ราคาน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งจะเห็นว่านับตั้งแต่เดือนม.ค.65 จนถึงปัจจุบันน้ำมันเวสเท็กซัสหรือ WTI ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 40.72% หรือ 30.98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ดีเซลขายปลีกไทยที่รัฐอุดหนุนอยู่เพิ่มขึ้น 40.43% หรือเพิ่มขึ้น 11.50 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้น 43.43% หรือ 13.50 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าเงินบาทไทยครึ่งปีแรกอ่อนค่าไปแล้ว 6.69% สิ่งเหล่านี้ล้วนกดดันต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและเศรษฐกิจไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปัดเตะถ่วง! นายกฯแพทองธาร ยันค่าแรง 400 บาท จะขึ้นภายในปีนี้

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความชัดเจนในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทที่ดูเหมือนจะเลื่อนการจ่ายเงินจากวันที่ 1 ต.ค. 2567 ออกไป

ถกค่าแรง 400 บาทล่ม ประชุม 3 ฝ่ายสะดุด!

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เป็นประธานการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่ 9/2567 ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาปรับอัตรา

พิพัฒน์ เรียกร้องนายจ้าง เห็นใจลูกจ้าง ขึ้นค่าแรง 400 บาท วอนเข้าร่วมประชุมไตรภาคี พรุ่งนี้ 13.30 น. แย้ม ก.คลัง เห็นด้วยมาตรการบรรเทาผลกระทบนายจ้าง

วันที่ 19 กันยายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขึ้นค่าแรง 400 บาทว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.67) เวลา 13.30

พิพัฒน์ ย้ำ 1 ต.ค.ค่าแรง 400 บาท เผยมีข้อเสนอ 7 มาตรการ ช่วยบรรเทาผลกระทบทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงข้อเสนอจากกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือนายจ้างกรณีขึ้นค่าแรง 400 บาทในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ว่า กระทรวงแรงงานได้รับข้อหารือจากผู้ประกอบการ