ไทยออยล์ แจงยิบ ค่าการกลั่นน้ำมันไม่ใช่กำไร

ไทยออยล์แจงข้อเท็จจริงประเด็นค่าการกลั่นน้ำมัน ลั่นพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินการของรัฐที่เป็นไปตามหลักของกฎหมายและการค้าเสรี

23 มิ.ย. 2565 – นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าตามที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ “ค่าการกลั่นน้ำมัน” ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ไทยออยล์ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการกลั่นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป ได้ติดตามประเด็นดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่ามีข้อมูลบางประการที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและห่วงใยว่าอาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและสร้างความสับสนให้กับประชาชนได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าน้ำมันดิบถือเป็นต้นทุนวัตถุดิบหลักของผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมซึ่งราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันมีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการที่เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์โควิด – 19 ที่คลี่คลายลง ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้น

ประเด็นที่ 1 “ค่าการกลั่น ไม่ใช่ กำไรสุทธิ” ของผู้ประกอบกิจการโรงกลั่น เนื่องจากค่าการกลั่น คำนวณจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ได้แก่ ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา เป็นต้น หักด้วยต้นทุนราคาน้ำมันดิบ โดยผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานในกระบวนการกลั่น ทำให้ผลรวมปริมาณผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้อยู่ในสัดส่วนประมาณ 97% ของปริมาณน้ำมันดิบเท่านั้น

ถึงแม้ว่า ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์จะคำนวณโดยหลักการข้างต้นแต่จะอ้างอิงราคาน้ำมันดิบดูไบเป็นหลัก ซึ่งข้อเท็จจริงโรงกลั่นต่างๆ จะมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายแหล่ง เช่น น้ำมันดิบเมอร์บาน จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือน้ำมันดิบอาระเบียน ไลท์ จากซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น ซึ่งราคาจะสูงกว่าน้ำมันดิบดูไบ โดยผู้ขายจะบวกค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ หรือส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่เราซื้อจริงกับราคาน้ำมันดิบดูไบเข้าไปในสูตรราคาด้วย ซึ่งในระยะนี้ เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบอยู่ในภาวะตึงตัวจึงทำให้ค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับปกติค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ค่าการกลั่นจึงไม่ใช่กำไรสุทธิของผู้ประกอบการโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายดำเนินการอื่นๆ อีก อาทิ ค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ ค่าพลังงานอื่นๆ ค่าสาธารณูปโภค ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น ค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยลักษณะและสภาพธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีความผันผวนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นจึงมีการเข้าทำสัญญาขายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปล่วงหน้าเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง เมื่อเห็นว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปล่วงหน้ามีความเหมาะสม ดังนั้น เมื่อราคาปรับสูงขึ้นเกินกว่าราคาที่ทำสัญญาไว้ล่วงหน้า

นอกจากผู้ประกอบการจะไม่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับเพิ่มขึ้นมากนักแล้ว ยังต้องบันทึกการขาดทุนจากการเข้าทำสัญญาดังกล่าวด้วย ดังนั้น การสรุปว่าเมื่อส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้นมากเทียบกับวัตถุดิบแล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นมีกำไรเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนนั้น จึงเป็นสมมติฐานที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด

ประเด็นที่ 2 โรงกลั่นไม่ได้เป็นผู้กำหนดค่าการกลั่น ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นไม่ได้เป็นผู้กำหนด “ค่าการกลั่น” และไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจาก “ค่าการกลั่น” ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันดิบ และตลาดน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นระดับราคาน้ำมันแต่ละชนิดในแต่ละช่วงเวลา เห็นได้จากในอดีตที่โรงกลั่นต้องแบกรับภาระขาดทุนในบางช่วงเวลาหากไม่นับรวมกำไรจากธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่ม เนื่องจากค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เช่น ในช่วงปี 2563 – 2564 ที่เกิดวิกฤติการณ์โควิด – 19 และมีความต้องการใช้น้ำมันน้อยลงมาก เป็นต้น

ประเด็นที่ 3 การพิจารณาค่าการกลั่นควรใช้ค่าเฉลี่ยระยะยาว เนื่องจากธุรกิจการกลั่นมีลักษณะเป็นวัฏจักรขึ้น – ลง โดยปกติค่าการกลั่นเฉลี่ยรายเดือน หรือ รายไตรมาสก็ตาม จะมีความผันผวนขึ้นลงได้มาก ดังนั้น การนำค่าการกลั่นเฉลี่ยระยะสั้นมาพิจารณาว่าโรงกลั่นมีกำไรมากเกินควร จึงไม่ถูกต้อง หากนำค่าการกลั่นเฉลี่ยตั้งแต่เดือนม.ค. 2563 จนถึงเดือนธ.ค 2564 ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โควิด – 19 และโรงกลั่นประสบภาวะขาดทุนซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.30 บาทต่อลิตรมาเฉลี่ยรวมกับช่วงต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่กลับมีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ค่าการกลั่นอยู่ที่ 2.80 บาทต่อลิตร จะพบว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยรวมตลอดช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤติการณ์โควิด-19 ทั้งที่โรงกลั่นมีภาระการลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงกลั่นและเพิ่มคุณภาพน้ำมันให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 ตามกฎหมาย

ประเด็นที่ 4 ตลาดการค้าน้ำมันเป็นกลไกการค้าเสรี ซึ่งผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทหนึ่ง เช่นเดียวกับ ทองคำ น้ำตาล ข้าวโพด ฯลฯ จึงต้องมีการอ้างอิงตลาดที่มีความน่าเชื่อถือ มีผู้ซื้อ/ผู้ขายจำนวนมาก และปริมาณการซื้อขายในระดับสูง ซึ่งยากต่อการแทรกแซงราคาและเป็นราคาที่สะท้อนอุปสงค์และอุปทานน้ำมันที่แท้จริง ซึ่งในภูมิภาคนี้ ได้แก่ “ตลาดสิงคโปร์” เนื่องจากโรงกลั่นของสิงคโปร์ เป็นการกลั่นเพื่อส่งออก ทำให้ราคาในตลาดสิงคโปร์จะสะท้อนราคาส่งออกที่แท้จริง ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งในตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา ดังนั้น หากมีการกำหนดราคาในประเทศใดประเทศหนึ่งแตกต่างจากตลาดอื่นอย่างมาก ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกของตลาดเสรี ก็จะทำให้เกิดการไหลเข้าหรือออกของผลิตภัณฑ์น้ำมันจากตลาดอื่นตามมา

“ไทยออยล์ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยวิธีการดำเนินการที่เหมาะสมภายใต้หลักของกฎหมายและการค้าเสรี เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นทุกรายต่างเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีหน้าที่ต้องดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นด้วย”นายวิรัตน์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ไทยออยล์” สานต่อโครงการเฟส 2 ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 52.70 กิโลวัตต์ ให้กับโรงพยาบาลเกาะสีชัง

“ไทยออยล์” สานต่อโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (ระยะที่ 2) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 52.70 กิโลวัตต์ ให้กับโรงพยาบาลเกาะสีชัง

CEO ไทยออยล์ คว้าสุดยอดผู้นำองค์กรแห่งปี THAILAND TOP CEO OF THE YEAR 2024

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2567 คุณบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

กลุ่มไทยออยล์นำร่องโครงการ “FIFA for School” เสริมสร้างศักยภาพและทักษะกีฬาฟุตบอลให้กับเยาวชนในพื้นที่แหลมฉบัง

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสโมสรพีทีที อะคาเดมี และสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดโครงการ “ไทยออยล์ปั้นฝันเยาวชน สู่ความเป็นหนึ่ง เพื่อพัฒนาทักษะด้านกีฬาฟุตบอล” ประจำปี 2567

ไทยออยล์คว้า 5 รางวัลยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย จาก “Asian Excellence Award 2024”

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้รับยกย่องให้เป็นผู้นำระดับเอเชียใน 5 สาขา จากงานประกาศรางวัล “Asian Excellence Award 2024” ครั้งที่ 14 จัดโดยนิตยสาร Corporate Governance Asia

ไทยออยล์ร่วมพิธีลงนาม MOU กับ ทช. ในฐานะภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ นายถิรยุทธ ลิมานนท์ ผู้จัดการฝ่ายกิจการสัมพันธ์ เป็นผู้แทนบริษัทฯ ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU)