‘สภาพัฒน์’ โชว์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3 % ลุ้น 66 โต 3.7%

‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจไทยปี65 โตถึง3% มั่นใจ 8 มาตรการช่วยทุกกลุ่ม ด้าน ส.อ.ท. เดินหน้าดันอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุค 4.0 เร่งเครื่องปรับตัวหนีกระแสดิสรัปชั่น ‘บิ๊กแสนสิริ’ชี้กทม. มีผู้ว่าฯ ใหม่ ถือเป็นนิมิตรหมายอันดี ย้ำปัญหาปากท้องใหญ่สุดผู้นำต้องเร่งแก้

22 มิ.ย.2565-นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวภายในงานปาฐกถาพิเศษ ‘สู่โอกาสใหม่ STRONGER THAILAND’  ว่า หลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤติซับซ้อนมากขึ้น สามารถเกิดขึ้นและเป็นปัญหาที่คาดการณ์ได้ยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว

นายดนุชา กล่าวว่า ช่วง 2 ปีเกิดโควิดระบาดเราได้มีการบริหารจัดการ 3 เรื่องหลัก คือ 1.การรักษาชีวิตของประชาชนผ่านการรักษาพยาบาล จัดหาวัคซีนป้องกันโรค และระดมฉีดได้มากที่สุด 2.การเยียวยาประชาชน ช่วงแรกช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ ต่อมาช่วยเหลือกลุ่มเจาะจงมากขึ้น และใช้มาตรการดึงผู้มีอาชีพอิสระเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม หรือมาตรา 40 มากขึ้น

และ 3.กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม หลัง 2 ปีเครื่องยนต์เศรษฐกิจมีจำกัด ต้องใช้ทรัพยากรภายในประเทศพยุงเศรษฐกิจ แก้ปัญหาหนี้สิน และเอสเอ็มอี ผ่านการออกมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรการของรัฐ ซึ่งสามารถบรรเทาประชาชนและพยุงเศรษฐกิจได้ช่วงระยะหนึ่ง มาถึงปี 2564 การส่งออกปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาโควิดระบาดหนักอีก 2 ครั้งในช่วงต้นปี และไตรมาส 3/2564 ทำให้เศรษฐกิจติดลบ

สำหรับสถานการณ์ปี 2565 เมื่อต้นปีเศรษฐกิจเผชิญกับปัญหาการระบาดโอมิครอน แต่อาการไม่รุนแรงมากนัก การแพทย์ของไทยยังสามารถรับมือได้ โดยได้ประกาศตัวเลขว่าเศรษฐกิจจะสามารถไปต่อได้ แต่ต่อมาประเทศไทยเผชิญกับปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ต้องปรับประมาณการตัวเลขลงอีก หลังมีปัจจัยการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาน้ำมันขยับขึ้นเรื่อยๆ

“สะท้อนให้เห็นว่าช่วงต่อจากนี้ ถึงระยะข้างหน้าโลกจะมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบทางภูมิศาสตร์การเมืองจะรุนแรงขึ้น เกิดการแบ่งขั่วอำนาจมากขึ้น จึงเป็นจุดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปต้องวางตำแหน่งให้ดี ประสานทุกประเทศได้”นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวว่า ด้านเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% แน่ๆ เพราะการส่งออกยังมีอานิสงส์ แม้สงครามรัสเซียกับยูเครนจะเป็นความเสี่ยง แต่ก็เป็นโอกาสด้านการส่งออกอาหาร ขณะที่การท่องเที่ยวหลังได้เปิดประเทศ 5 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วประมาณ 2 ล้านคน คาดว่าช่วงหลังปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 7-10 ล้านคน ทำให้ภาคท่องเที่ยวเกิดการฟื้นตัวได้มากขึ้น อีกทั้งรัฐได้มีการต่อมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน คาดว่าจะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางได้ต่อเนื่อง

นายดนุชากล่าวว่า ด้านการบริโภคภาคเอกชนก็เติบโตขึ้นมากถึง 8% สะท้อนว่ากิจกรรมในประเทศกระเตื้องขึ้น และการลงทุนยังสามารถไปได้อยู่ ส่วนที่เป็นปัญหาคาดว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เงินเฟ้อจากราคาพลังงานปรับตัวสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ และพยายามแก้ปัญหาโดยการนำมาตรการเข้าไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

“เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น และปรับตัวดีต่อเนื่องในปี 2566 ซึ่งปีนี้คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัว3% ปีหน้าคาดการณ์อยู่ที่ 3.7% มีปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ การส่งออกยังขยายตัวโดยปี2564 โตถึง 18% การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว แต่ยังมีข้อจำกัดเป็นความเสี่ยง จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สงครามรัสเซียกับยูเครน เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งไทยเมื่อพฤษภาคมเงินเฟ้อสูง 7.1% มาจากราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งก็ขอบคุณผู้ผลิตที่ยังไม่ส่งผ่านต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคมากนัก แต่บางสินค้าก็ต้องปล่อยปรับราคา เพราะต้นทุนแพงเกินกว่าผู้ผลิตจะแบกรับไหว ” นายดนุชากล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า ทั้งนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการมาช่วยบรรเทาภาระประชาชนบ้างแล้วและมีอีก 8 มาตรการได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่รัฐจะจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชน เช่น กองทุนน้ำมันเชื่อเพลิงใช้เงินไปแล้ว ด้านของการช่วยเหลือค่าแก๊ส LPG กับภาคครัวเรือน ช่วยเหลืออุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อให้ราคาไม่สูงเกิน หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันราคาน้ำมันของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เช่น สิงคโปร์ น้ำมันดีเซลราคาลิตรละ 65 บาท เพราะใช้ราคาน้ำมันจริงตามกลไกตลาด เป็นต้น ดังนั้น การที่รัฐออกมาตรการด้านพลังงานออกมา เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบน้อยลง

“ผู้ที่จะเข้ามาดูแลก็คือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปัจจุบันภาระที่เกิดขึ้นกองทุนน้ำมันติดลบกว่า 9 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือนมิถุนายนนี้อาจติดลบถึง 1 แสนล้านบาท จากราคาน้ำมันแพงก็พยายามให้หลายหน่วยงานเข้ามาพูดคุย และบริหารจัดการราคาพลังงานในประเทศให้ดีที่สุด และหลังเดือนกันยายนจะเข้าไปดูต่อไปว่ามีส่วนใดที่จะต่อมาตรการออกไปได้อีก แต่ขอความร่วมมือประชาชนปรับตัวช่วยกันใช้พลังงานอย่างประหยัด” นายดนุชา กล่าว

นายดนุชากล่าวว่า จากปัจจัยที่เกิดขึ้น ภาคธุรกิจของไทยมีเงินให้กู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจมากขึ้น โดยสินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน และสินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขยายตัวนับตั้งแต่มีการระบาดโควิด ส่วนหนี้สินภาคธุรกิจที่เป็นหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ในภาพรวมยังทรงตัว และยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

สำหรับสถานการณ์ในปี 2566 อาจเกิดปัญหาด้านภูมิศาสตร์ด้านการเมืองมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยต้องยืนอยู่ในจุดที่ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยระยะถัดไปเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และช่วยขับเคลื่อนประเทศถัดไป ต้องยืนอยู่ได้ และต้องปรับตัวให้ได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไทยจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ต้องปรับตัวรอบด้าน สร้างจุดขายใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งทิศทางที่ได้หารือกับคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบแล้ว ในแผน พัฒนาฉบับที่ 13 กำหนด 13 จุดมุ่งหมาย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน

นายนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวว่าจากการสะท้อนเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจ ในมุมมองของสภาพัฒน์ ทำให้เห็นถึงความท้าทายทุกด้าน ซึ่งเห็นพ้องกัน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม รวมถึงเรื่องการเมือง แต่สิ่งที่เห็นชัดๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือผลกระทบจากวูก้า (VUCA) คือ ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ  ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ไม่สามาถรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น แก้ปัญหาได้อย่างไร และเราจะหยุดพ้นสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร

ทั้งนี้ สิ่งที่ไทยกำลังเจอหนักๆ ในปัจจุบันนี้คือ คือเรื่องดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจนทำให้เกิดกระแสดิสรัปชั่น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่อุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากคนเปลี่ยนแนวทางการเสพสื่อใหม่ ดังนั้น ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวอย่างยิ่ง ซึ่งใน ส.อ.ท. มีทั้งหมด 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์การผลิต ทุกกลุ่มกำลังหนีตายกันอยู่ ส.อ.ท.จึงได้ออกโปรแกรม industry transformation เพื่อช่วยให้ทุกอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวให้แข็งแกร่งขึ้น และมีขีดความสามารถทางารแข่งขันเพิ่มขึ้น เพื่อให้ทุกอุตสาหกรรมไปถึง 4.0 จากตอนนี้ที่หลายอุตสาหกรรมยังอยู่ที่  2.0-2.5 ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ากระแสดิรีปชั่น ยังรุนแรงและตามไล่ล่าเราอยู่ตลอดเวลา

“วันนี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เราต้องร่วมมือกันให้ได้ จึงได้ตั้ง 1FTI ขึ้นมา เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยเข้มแข็งกว่าเดิม เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาเครื่องยนต์ที่ช่วยขับเคลื่อนภาคเศราฐกิจ และเชื่อถือได้ คือ ภาคการส่งออก ที่ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 กลับมาเป็นบวกที่ 1.4% จากในปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ฉุดจีดีพี ติดลบ 6.1%” นายเกรียงไกร กล่าว

นอกจากนี้ ทาง ส.อ.ท. ยังมี 1team คือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ปัจจุบันเรามีสมาชิก 1.4 หมื่นบริษัททั่วประเทศ ซึ่งภาคการผลิตอยู่ที่เราทั้งหมด ซึ่งโจทย์คือทำอย่างไรให้เราเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเชื่อโยงกับภาครัฐ โดยล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ไปหารือร่วมกันที่ ส.อ.ท. ถึงเรื่องความร่วมมือ เช่น การเชื่อมโยงกับภาคการศึกษา เพื่อผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และลดปัญหาจบมาไม่มีงานทำ เป็นต้น

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ยังร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวของ อาทิ หอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคาร สมาคมท่องเที่ยว และต่างประเทศ ซึ่งเป็น 1team ในการร่วมกันทำงาน ท้ายที่สุดต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ตั้งมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นภาพรวมอุตสาหกรรมที่เราจะไปในอนาคต

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรามีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รู้สึกดีใจ เพราะคะแนนเสียงที่ได้มา ถือเป็นฉันทามติของคนกรุงเทพมหานครทุกคน โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ในแง่ความคาดหวังและความประทับใจไม่ต้องพูดถึง เพราะทำงานมา 1 เดือน เหมือนทำมาแล้ว 1 ปี ทั้งการตื่นเช้าไปทำงาน การติดตามปัญหาต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหวัง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ โหยหา ช่วยสร้างกำลังใจให้คนที่ประสบปัญหาอยู่ กำลังจะหมดหวัง และถือเป็นนิมิตรหมายอันดี

“ปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน เรื่องปากท้องถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสุด ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ รายได้ลดลง แต่หนี้ครัวเรือนสูงบขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ผู้นำทุกคนจะต้องแก้ปัญหา อาทิ ผู้ว่าฯ กทม. พยายามร่วมมือกับภาคเอกชน ในการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม โดยบริบทของประเทศต้องจัดการเรื่องรายได้ หนี้ครัวเรือน และการลดค่าใช้จ่าย” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า การทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ถือเป็นบริบทใหม่ ในการนำปัญหาเข้ามาให้ทุกคนมองเห็นด้วยกัน ผ่านการวัดเคพีไอการทำงานของคนที่ชัดเจน แต่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากนัก แต่ใช้ประสิทธิภาพของกำลังคนให้มีความกระตือรือร้น โดยการจะทำแบบนี้นั้น เป็นเรื่องของภาวะผู้นำ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้จะพูดอวยหรืออะไร แต่ต้องยอมรับว่าภาวะผู้นำมีความสำคัญมาก เพราะขั้นตอนการทำงานที่ลงพื้นที่จริง เข้าใจปัญหาจริง ประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน อันนี้ถือเป็นนิมตรหมายอันดี ไม่ใช่แค่ประชาชนที่มีความหวัง แต่ข้าราชการที่มความสามารถ และมีความต้องการในการแก้ไขปัญหาของประชาชนจริง เมื่อเจอผู้นำที่มีความเด็ดขาด และมีความจริงใจในการทำงาน ก็มีความหวังไปด้วย

นายเศรษฐา กล่าวว่า กรณีที่หลายหน่วยงานมีความเกรงใจและเกรงกลัว คือ ไม่มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งมองว่ามีความสำคัญ และได้ประโยชน์มากหากกทม. มีการพัฒนาที่ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น เชื่อว่าเอกชนพร้อมร่วมมือ โดยหากมีการเข้าพบแล้วช่วยเหลือกัน ถือเป็นบุญคุณที่ต้องตอบแทนทีหลัง ก็บอกผู้ว่าฯ กทม. ไว้เลยว่า หากอะไรที่ทำไม่ได้หรือไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องก็บอกไปเลยว่าทำไม่ได้ ไม่ต้องเกรงใจ เพราะไม่ใช่เอกชนทุกรายที่หวังผลตอบแทน ซึ่งเอกชนไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องเกรงใจในการเรียกหา การให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อน และลดภาระงบประมาณ เชื่อว่าเอกชนยินดีช่วยเหลือ อาทิ การนำที่ดินเปล่ามาใช้ประโยชน์ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนส่วนรวมดีขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี

Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"

หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน

'สุดารัตน์' ถามนายกฯ เตรียมรับมือเศรษฐกิจปีหน้าหรือยัง ชี้แจกเงินหมื่นไม่ตอบโจทย์

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่แล้ว คือหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสูงถึง 92%

‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น

ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า