‘กรณ์’ จี้ ‘จุรินทร์’ มีอำนาจสั่งคุมค่าการกลั่น ทำน้ำมันลดได้ถึง 4 บาทต่อลิตร

‘หัวหน้าพรรคกล้า’ ชี้‘จุรินทร์’ สั่งคุมค่าการกลั่นได้ เหตุมีอำนาจในมือ ช่วยทำให้น้ำมันลดถึง 4 บาทต่อลิตร แนะ รบ. ออกพ.ร.ก. หลัง ‘สุพัฒน์พงษ์’ ดีลแบ่งกำไรโรงกลั่น 3 เดือนปากเปล่า ถามปัญหาน้ำมันแพงยืดเยื้อเกิน 3 เดือนจะทำอย่างไร

20 มิ.ย.2565-ที่พรรคกล้า นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรมว.การคลัง แถลงข่าวกรณีกระทรวงพลังงานประกาศมาตรการเกี่ยวกับราคาน้ำมันแพง แต่ราคาหน้าปั๊มน้ำมันยังไม่ลดลงว่า เป็นตัวยืนยันและสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ยิงตรงไปยังประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน ในเรื่องราคาน้ำมันแพงวิธีแก้ คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรมว.พาณิชย์ มีอำนาจและหน้าที่โดยตรงตามพ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ ซึ่งได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งมีนายจุรินทร์ เป็นประธานโดยตำแหน่ง โดยในกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าควบคุม

“เมื่อประกาศเป็นสินค้าควบคุม คำถามคือ มาตรการอยู่ที่ไหน ทำไมยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนกำหนดค่าการกลั่น ทำไมกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช้อำนาจที่มีกำกับอัตราค่าการกลั่นที่ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน นี่คือสาเหตุที่ราคาหน้าปั๊มยังไม่ปรับลดลง ดังนั้นจึงขอฝากให้นายจุรินทร์รีบกลับมาแก้ไขเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนรออยู่ ถ้ารัฐมนตรีใช้อำนาจที่มี พรรคกล้าบอกเลยว่าภายในอาทิตย์นี้ราคาหน้าปั๊ม สามารถปรับลดลงได้เลย 4 บาท ต่อลิตร โดยมาจากค่าการกลั่น”

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงที่มาของน้ำมันสามารถลดลงได้ 4 บาทว่า ค่าการกลั่นน้ำมัน ไตรมาสแรกของปี 65 ตัวเลขกำไรโดยรวม 6 โรงกลั่น อยู่ที่ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท ถือว่าสูง เพราะนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ทั้งปีจะมีกำไรอยู่ที่  6.8-6.9 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ไตรมาสแรก ค่าการกลั่นขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.91 บาทต่อลิตร ระหว่างทางมาจนถึงเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางวันที่เข้าไปคำนวณ เพิ่มขึ้นไปเป็น 8 บาท เท่ากับว่าขณะนี้ค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8 บาท และสิ้นเดือนมิ.ย. อาจถึง 6 บาท เพราะฉะนั้น 4 บาทที่พูดถึง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาหน้าปั๊มที่สูง เพราะค่าการกลั่นสูงเฉลี่ย 5.80 บาทต่อลิตร และหากไปหักลบกับราคาเฉลี่ยของไตรมาสแรก ก็จะชัดเจนว่าราคาน้ำมันจะลดลงทันที 4 บาท ต่อลิตร ฉะนั้น นี่คือความสำคัญของค่าการกลั่นน้ำมัน

“ที่นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน ไปเจรจาขอนำกำไรโรงกลั่น 8 พันล้านต่อเดือน เริ่มต้นเดือนก.ค. ไปอุดหนุนให้กองทุนน้ำมันนั้น เป็นเพียงข้อตกลงปากเปล่า ดังนั้นต้องออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เพื่อเป็นหลักประกัน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าไม่ตอบโจทย์หากปัญหาน้ำมันยืดเยื้อเกิน 3 เดือน ถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป หรือจะกลับไปเจรจาต่อกับโรงกลั่นน้ำมันอีกครั้ง”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กลุ่ม ปตท. และกลุ่มฯ โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยพลังงานสะอาด และคาดการณ์ราคาน้ำมันในปี 68

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า งานสัมมนา The Annual Petroleum Outlook Forum