‘คลัง’ ปัดฝุ่นภาษีลาภลอย แจงเป็นเรื่องน่าสนใจ ระบุหากรัฐบาลเรียกใช้ก็พร้อมเสิร์ฟได้ทันที ฟุ้งผลงานจัดเก็บรายได้ 7 เดือน ทะลุเป้า 4.5 หมื่นล้านบาท พร้อมแจงยังมีเวลาพิจารณามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล
20 มิ.ย. 2565 – นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายภาษีลาภลอย (Windfall tax) ที่กระทรวงการคลังได้เคยเสนอไปเมื่อก่อนหน้านี้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และหากรัฐบาลมีเหตุผลที่จะต้องดำเนินการเก็บภาษีในส่วนนี้ ก็พร้อมจะทำได้
‘ร่างกฎหมายเดิมมีอยู่แล้ว กระทรวงการคลังเคยเสนอ แต่เรื่องนี้ก็ตกไป โดยหากตอนนี้รัฐบาลมีเหตุผลที่จะทำก็พร้อมจะหยิบมาดำเนินการได้ มองว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และน่าจะใช้ แต่ไม่ใช่ว่าจะนำมาเสนออีก ทั้งหมดอยู่ที่เหตุผลของรัฐบาล หากมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะดำเนินการ’ นายกฤษฎา กล่าว
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ากระทรวงการคลังมีเครื่องมือต่าง ๆ ที่เป็นของดีเยอะ แต่การจะนำมาใช้ต้องดูสถานการณ์ ต้องเหมาะสม และใช้ให้ถูกจังหวะ รวมถึงพิจารณาถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านด้วย
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการวางนโยบายในการปฏิรูปโครงสร้างภาษี มีการศึกษาถึงแผนการดำเนินการในมิติต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ เตรียมพร้อมเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลต้องการใช้ก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นฐานรายได้ของรัฐบาล โดยภาษีใหม่ ๆ ที่มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น ภาษีอี-คอมเมิร์ซ ที่ภาพรวมการจัดเก็บขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญของรัฐบาล, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตรงนี้รายได้จะเข้าสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนนี้ก็จะช่วยลดภาระของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณไปอุดหนุนให้กับท้องถิ่นน้อยลง รัฐบาลก็จะมีงบประมาณมาใช้ในการพัฒนาประเทศส่วนอื่นเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน สิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค. 2565 นั้น กระทรวงคลังจะร่วมกับฝ่ายนโยบายพิจารณาว่า ต้องขยายเวลาต่อไปเพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องการคลัง ในส่วนของภาพรวมการจัดเก็บรายได้ว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร ซึ่งจากผลการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังในช่วง 7 เดือน ของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-เม.ย.65) พบว่า ยังเกินกว่าเป้าหมายราว 4.5 หมื่นล้านบาท โดยแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในส่วนที่เหลือของปีงบประมาณ 2565 ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ดังนั้นก็ต้องพิจารณาในส่วนนี้ว่าหากมีการลดภาษีดังกล่าวเพิ่มอีก จะส่งผลให้รายได้หายไปเท่าไหร่ โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย
ก่อนหน้านี้นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2565 ยังสูงกว่าเป้าหมายถึง 4.5 หมื่นล้านบาท โดยก็ต้องเอาเรื่องการสูญเสียรายได้จากการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งจะทำให้รายได้หายไปเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท รวม 2 เดือนกว่า 2 หมื่นล้านบาทเข้ามาพิจารณาด้วย แต่จากภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยังมั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2565 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.4 ล้านล้านบาท
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ภาษีลาภลอย คือ ภาษีที่เกิดจาก รายได้ของที่ดิน ที่มีโครงการ ของรัฐ ตัดผ่านหรือภาครัฐกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น การสร้าง รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือรถไฟฟ้ารางคู่ โครงการสร้างสนามบิน หรือ โครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆของภาครัฐ นั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ ที่ดินบริเวณนั้นเกิดมูลค่าที่พุ่งสูงขึ้น หรือเรียกง่ายๆว่า อย่างกับได้ ลาภลอย ดังนั้นภาครัฐจึงเห็นว่า ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมา เจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์ จะต้องเสียภาษีชนิดนี้ นั้นคือ ภาษีลาภลอย นั้นเอง