‘คมนาคม-กทม’ ถกอัปเดตยอดหนี้สายสีเขียวกว่า5.33 หมื่นล้าน เล็งเสนอสภา กทม. รับทราบ

‘คมนาคม’ถกร่วม กทม. หารือการจำหน่ายทรัพย์สิน-โอนภาระทางการเงินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ-ใต้เปิดยอดภาระการเงิน อัปเดต พ.ค. 65 กว่า 5.33 หมื่นล้าน ด้าน กทม. เล็งเสนอเข้าสภา กทม.ชุดใหม่ภายใน 2-3 เดือนนี้ ก่อนชง ครม.รับทราบ ชี้รับบริหารเป็นเรื่องของนโยบาย

17 มิ.ย.2565-นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 2/2565 เพื่อดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (สายสีเขียวเหนือ) และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (สายสีเขียวใต้) โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานฯ วันนี้ (17 มิ.ย. 2565) ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) เพิ่มเติม ฉบับที่ 1 ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังกล่าว ของ รฟม. โดยรับทราบภาระทางการเงินโครงการฯ

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน (ณ พ.ค. 2565) วงเงินรวม 53,321.90 ล้านบาท แบ่งเป็น สายสีเขียวเหนือ วงเงิน 34,171.70 ล้านบาท และสายสีเขียวใต้ วงเงิน 19,150.19 ล้านบาท ขณะเดียวกัน รฟม. ยังได้ประมาณการภาระทางเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสายสีเขียวเหนือ และสายสีเขียวใต้ จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565 วงเงินรวม 53,313.22 ล้านบาท ประกอบด้วย ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจริงจากโครงการรถไฟฟ้าทั้งหมด, งบประมาณการเวนคืนที่ดิน, ค่าจ้างที่ปรึกษาฯ, รายได้ของ รฟม. รวมถึงภาระดอกเบี้ยช่วง เม.ย.-ก.ย. 2565 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาระทางการเงินจะเป็นเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่ว่า กทม. จะรับจริงไปเมื่อใด 

นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ กทม. จะนำเสนอเข้าที่ประชุมสภา กทม. ชุดใหม่ เพื่อบรรจุวาระและพิจารณาเห็นชอบภาระหนี้ที่จะรับโอนภายใน 2-3 เดือนนับจากนี้ จากนั้นทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคมจะเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบร่างฯ และรายละเอียดทางด้านการเงินการคลัง ก่อนที่จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ เบื้องต้นกำหนดไว้ว่า ภายใน ก.ย. 2565

“กทม. ขอเวลา 2-3 เดือน เพราะสภา กทม. มีวาระการพิจารณาค้างเยอะ และต้องจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากเป็นสภา กทม. ชุดใหม่ ที่เพิ่งจะมีการเลือกตั้งเข้ามา ซึ่งจะต้องซักซ้อม และทำความเข้าใจในเรี่องดังกล่าว โดยรายละเอียดของ MOU ฉบับเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 จะเป็นการโอนโครงการฯ มีการอ้างอิงที่มาที่ไป อีกทั้งมติ ครม. และมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) รวมถึงเงื่อนไขการรับโครงการเพื่อเดินรถ และการรับภาระทางการเงินของ กทม. ที่เกิดจากการดำเนินการโครงการจาก รฟม. ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร ส่วนกรณีหากจะโอนโครงการฯ กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม.นั้น เป็นเรื่องนโยบายของรัฐ ซึ่ง รฟม. พร้อมดำเนินการตามนโยบาย” นายภคพงศ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว